วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หอการค้าทั่วประเทศพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ?


                                           ขอนแก่นแดนอีสานได้รับเลือกให้จัดการประชุมใหญ่หอการทั่วประเทศในปีนี้  และอีสานบีซวิคก็จะออกฉบับพิเศษให้ทันการประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย บรรณาธิการจึงขอให้ผมส่งบทความไวกว่าปกติ
              เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการประชุมใหญ่ของหอการค้าทั่วประเทศ  ผมจึงขอตั้งประเด็นโสเหล่ด้วยปัญหาที่มีผลกระทบระดับชาติและเป็นปัญหาที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดควรจะมีส่วนร่วมแก้ไขหรือช่วยลดปัญหาให้เบาบางลง หรืออาจจะทำให้ให้วิกฤตกลับเป็นโอกาสเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ส่วนคนระดับยอดสุดของสังคมไทยนั้นคงไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะเขาเหล่านั้นอยู่ที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะถือตัวเองเป็น “พลเมืองโลก”(Global Citizen)  และสำหรับบางคนแล้วประเทศไทยเป็นเพียงแผ่นดินที่อาศัยเกิดเท่านั้น
                ผมกำลังกังวลแทนนักธุรกิจในภูมิภาค และแทนคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ เนื่องจากจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economic Community : AEC. อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)  ภายใต้แนวคิด อาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว ( Single market and production base ) ซึ่งหมายถึงจะมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ใน 10 ประเทศสมาชิก และสามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศทั้งวัตถุดิบและแรงงาน  มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบเดียวกัน
                อันที่จริงแล้ว AEC. เป็นเพียง1 ใน 3 ของประชาคมย่อยในประชาคมอาเซียนเท่านั้น ยังมีอีก 2 ประชาคมย่อยที่เราไม่ค่อยได้รับรู้การเคลื่อนไหว หรือให้ความสนใจเท่าไรนักนั่นคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเลย แต่โลกกำลังตกอยู่ในวังวน ของเศรษฐกิจ จนไม่ได้คำนึงถึงสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมว่าจะเสื่อมสลายอย่างไร ขอเพียงให้เศรษฐกิจโตขึ้นมากๆ เป็นใช้ได้ ผมจึงจะยังไม่ชวนโสเหล่เรื่องนี้ เอาไว้โอกาสต่อไปค่อยว่ากันอีกที
                จากการสืบค้นและติดตามรับฟังเรื่องของ AEC.:ซึ่งยังมีน้อยมาก  ผมขอข้ามที่จะกล่าวถึงที่มาที่จะไปของ AEC.เพราะท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้ว หรือค้นหาข้อมูลได้ไม่ยาก ผมขอสรุปว่าการนำเอาประเทศสมาชิกอาเซียนมามัดรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันนั้น จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีอยู่ 5 ด้านคือ เสรีด้านการค้า ด้านบริการ ด้านการลงทุน ด้านเงินทุน และเสรีด้านแรงงานฝีมือ หากถามว่าในห้าด้านนี้มีข้อน่าห่วงอย่างไร ผมขอสรุปดังนี้ครับ
                เสรีด้านการค้า คือเลิกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกัน หรือลดอัตราจัดเก็บเหลือ 0 % ในรายการสินค้าที่เป็น Inclusive List ที่เริ่มไปแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2553 ใน 6 ประเทศ และในปี 2558 จะใช้กับอีก 4 ประเทศที่เหลือ การเปิดเสรีด้านนี้ เรามีทั้งทางได้และทางเสียอยู่ที่ฝีมือของนักธุรกิจไทยและรัฐบาล สำหรับนักธุรกิจใหญ่บ้านเราเชื่อว่าเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว แต่ระดับกลางถึงเล็กน่าห่วงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สนใจรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง และหากรัฐบาลไม่สนใจที่จะดูแลนักธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(SMEs) อย่างจริงใจแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาคมีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางสังคมระดับล่างมากที่สุด จะมองแต่ปริมาณตัวเลขทางการค้าอย่างเดียวคงไม่ได้
                เสรีด้านบริการ เราจะเสียเปรียบมากที่สุดคือสาขาคอมพิวเตอร์และคมนาคม แต่ในสาขาบริการการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ และบริการด้านสุขภาพถือเป็นจุดแข็งของไทย แต่จะยั่งยืนเพียงใดอยู่ที่วิสัยทัศน์ที่จะกำหนดนโยบายของรัฐบาลว่าจะทำเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อใคร
                เสรีด้านการลงทุน ประเทศสมาชิกที่มีเทคโนโลยี ความชำนาญ และมีเงินทุนมาก จะแย่งกันไปลงทุน หรือย้ายฐานผลิตไปประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 นี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ประเทศร่ำรวยที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน แต่แอบตั้งบริษัทนอมินี สัญชาติอาเซียนมาลงทุนในประเทศที่มีคอรัปชั่นสูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทุกวันนี้มีบริษัทนอมินีอยู่เต็มเมือง ทั้งๆที่ผิดกฎหมายรู้เห็นกันอยู่ แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถทำได้จริง จนอาจจะกล่าวได้ว่ามีมากจนแตะไม่ได้ เพราะบริษัทเหล่านั้นคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศนี้ไปเสียแล้ว
                เสรีด้านเงินทุน  ขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดเท่าใดนัก แต่โดยหลักการแล้วจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี รวมถึงการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนร่วมกัน  เวลาเหลืออีกเพียงแค่ 4 ปีเศษเท่านั้นก็จะต้องเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่ผมเองก็มีความเข้าใจที่จำกัดในเรื่องนี้ จึงขอข้ามไปก่อน
                เสรีด้านแรงงานฝีมือ จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง มาวันนี้ความกังวลของผมมากยิ่งขึ้นเพราะ
                1. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมาก การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอย่างเท่าเทียม  เป็นเหตุให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ และประเทศที่มีแรงงานมากแต่ค่าจ้างต่ำอย่าง พม่า เขมร และเวียดนา ทุกวันนี้เรามีแรงงานเถื่อนทั้งระดับแรงงาน และระดับช่างฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาหากินในประเทศมากมายหลายแสนคน หรืออาจจะเป็นล้านคนแล้ว หากเปิดแรงงานเสรี ผมเชื่อว่า แม้แต่อาชีพทำนาทำไร่ และปศุสัตว์ เราก็จะถูกเพื่อนบ้านเข้ามาแย่งทำกินแน่  ยิ่งลูกหลานชาวนาเดี๋ยวนี้มีปริญญากันหมดจนทำนาไม่เป็นหรือไม่ยอมทำ อย่างนี้แล้วแรงงานไทยจะอยู่อย่างไร ปัญหาสังคมคงจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูได้ไม่ยาก
                2. ปัญหาการพัฒนาความพร้อมของ “คนไทย” (ไม่ใช่ “ทรัพยากร” ที่ฝรั่งสอนให้เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์”หรือ Human Resource) ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต่างจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ไปไกลไม่เพียงแค่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรืออาเซียน+3  และอาเซียน+ 6  เท่านั้น  ส่วนการศึกษาไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน ต้องบอกเลยว่าล้มเหลวอย่างยิ่ง เราผลิตแต่ปริมาณ โดยไม่ใส่ใจในคุณภาพมาตลอด 40 ปี ทำให้เกิดปัญหาความด้อยศักยภาพด้านการแข่งขัน ไทยจึงเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในขณะนี้ ที่จริงแล้วเราควรประเมินคู่แข่งขันให้สูงไว้ก่อนเสมอ เพื่อความตื่นตัวและไม่ประมาท
                3. ข้าราชการไทยบางสาขาอาชีพ อย่างเช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรบางสาขา ตลอดจนครูอาจารย์ นักวิจัย ที่มากด้วยคุณภาพ รัฐอาจจะรักษาเขาเหล่านั้นไว้ไม่ได้ หากภาครัฐคิดแค่จะใช้เงิน หรือตำแหน่งงาน มาเป็นสิ่งผูกมัดหรือจูงใจ เพราะภาคเอกชนเขามีศักยภาพมากกว่าหลายช่วงตัว และการจะผูกมัดข้าราชการด้วยค่าตอบแทนที่เป็นเงิน และตำแหน่งงานในสถานการณ์ของการวิ่งเต้นเส้นสายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบอบราชการไทยจะเหลือแต่บุคคลากรไร้คุณภาพมาเป็นกำลังในการบริหารประเทศ เสมือนการนำรถห่วยราคาแพงไปลงแข่งขัน แถมได้คนขับไร้ความรับผิดชอบ ก็คงจะพาแหกโค้งตายกันหมดเท่านั้น
                อันที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่เอาแค่สามประเด็นข้างต้นนี้ ก็น่าจะหนักหนาสาหัสเกินเยียวยาแก้ไขได้ทันการ ผมอยากเห็นพี่น้องชาวหอการค้าต่างจังหวัด พิจารณาใคร่ครวญด้วยการมองไปที่ลูกหลานที่จะทำหน้าที่สืบทอดธุรกิจ มองไปที่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน ลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาจะอยู่กันอย่างไรหากปัญหานี้ยังถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป ท่านคงไม่เชื่อว่าภาครัฐที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองและข้าราชการที่คิดเอาแต่ประโยชน์และเอาตัวรอด จะสามารถรับมือกับปัญหาของประเทศได้โดยลำพัง โดยที่ภาคเอกชนไม่พยายามเข้าไปมีบทบาทอย่างจริงจัง อย่าคิดดูถูกความรู้ความสามารถของตนเอง บ้านเมืองรอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเข็มแข็งของภาคเอกชนไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเรายังทำเท่าเดิมจะไม่ทันการแล้ว และหากยังทำเหมือนเดิมก็คงไม่ต่างกับเติมฟืนสุมไฟเผาบ้านตัวเองล่ะครับ
                จากประเด็นปัญหาทั้งสามข้างต้น หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ตัวถ่วงและตัวเร่งปฏิกิริยาของปัญหา มาจากการ “คอรัปชั่น” การขาดธรรมาภิบาลของภาครัฐและเอกชน และการหย่อนยานด้านศีลธรรมของประชาชนคนไทย คือแก่นแท้ของปัญหา  ผมอยากเห็นหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยให้ความร่วมมือท่านประธานหอการค้าไทย นายดุสิต นนทะนาคร ที่ท่านเข้าใจปัญหาค่อนข้างชัด ในการขจัดหรือลดการคอรัปชั่นในบ้านเมืองนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ เพราะหากไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ป่วยการที่จะพูดเต็มปากว่าท่านคือ ตัวแทนของผู้ประกอบวิสาหกิจจากทั่วประเทศ  จริงไหมครับพี่น้อง........

                                                                                                             อีสานบิซวีค ๗๗
                                                                                                               ๑๕ พย.๕๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น