วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กันไว้ดีกว่าแก้ เดี๋ยวแย่แล้ว จะแก้ไม่ทัน

หากประเทศไทยจะต้องถูกบันทึกในกินเนสบุ๊คออฟเร็คคอร์ดในช่วงนี้แล้วละก็  คงต้องบันทึกไว้ว่า เดือน ตุลาคมพ.ศ. 2553  เกิดอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วมมากที่สุด มูลค่าความเสียหายหนักที่สุด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งยังไม่มีปีใดเคยปรากฏความเสียหายมากและเป็นวงกว้างขนาดนี้มาก่อน ผมเชื่อว่าทุกท่านคงตั้งคำถามในใจว่า“มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ? ” คำตอบก็คงมีมากมาย  เช่น เกิดจากภาวะโลกร้อน เกิดเพราะมีปรากฏการณ์ลานีญา เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรืออาจจะทั้งสามประการมาผนวกกันก็ได้  แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ  ซึ่งถ้าจะแก้ไขป้องกันกันจริงๆจังๆจะต้องเป็นวาระแห่งโลก ไม่ใช่เรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศเราจะแก้ไขได้เองทั้งหมด
 แต่คราวนี้ผมขอยกปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยที่มีแนวโน้มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกวันมาเป็นประเด็น โสเหล่  เราคนไทยจะต้องไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาของรัฐเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้จัดการแก้ไข แต่ต้องคิดว่าเป็นปัญหาของคนไทยทุกๆ คน ที่จะต้องเรียนรู้และติดตามอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะกว่าร้อยปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของชาติได้เลย หากไม่ได้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบเข้าดูเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นประจำมาหลายปี  เพื่อดูแผนที่อากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม  ดูการเคลื่อนไหวของเมฆฝนและพายุ  มาปีนี้มันผิดสังเกตจากทุกปีกล่าวคือ  ปกติเส้นแนวร่องความกดอากาศต่ำจะเริ่มพาดผ่านจากเหนือลงใต้ไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่าปีนี้ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แนวร่องความกดอากาศต่ำผ่านอีสานล่างลงไปถึงภาคกลางและกรุงเทพ ฯ   เมื่อถึงอ่าวไทยแล้ว มันกลับย้อนคืนขึ้นมาอีก และมาหยุดอยู่แถวโคราช ชัยภูมิ ลพบุรี ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าวตลอดช่วงสองสัปดาห์นั้น จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคมความกดอากาศสูงจากจีนเคลื่อนลงมาไล่  แต่เจ้าร่องความกดอากาศต่ำนี้แทนที่จะค่อยๆ เคลื่อนลงไปภาคใต้ตอนบนตอนล่างตามลำดับ  มันกลับไปโผล่ที่สงขลา ปัตตานีเลยทีเดียว แถมเกิดพายุดีเปรสชั่นจากทะเลเคลื่อนมาสมทบซ้ำเข้าไปอีก เป็นผลให้มีฝนตกหนัก ด้วยปริมาณน้ำฝนมากกว่า 500 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง  หาดใหญ่จึงกลายเป็นเมืองบาดาลภายในไม่กี่ชั่วโมง
ผมเคยเห็นการคิดวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดบ้านผม  โดยมีขั้นตอนที่ให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ 3 ขั้นตอน ตั้งแต่การแนะนำโครงการ    การปรับปรุงแผนและการออกแบบ   จนถึงขั้นขอความเห็นครั้งสุดท้ายก่อนนำไปดำเนินการ  มีข้อสังเกตอยู่หลายประการที่ชวนสงสัย จนผมต้องนำไปถามบริษัทที่ปรึกษา และอยากจะนำมาเล่าสู่ฟัง
หลังจากที่บริษัทได้รับงานจากกรมโยธาธิการฯ มีการศึกษาข้อมูลในเชิงกายภาพทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำในจังหวัดสกลนครเป็นหลัก (แต่ข้ามการศึกษาในมิติของสังคม หรือแม้แต่ระบบนิเวศป่า)   แล้วมานำเสนอว่าเกิดน้ำท่วมที่ไหนอย่างไรและเพราะเหตุใด  และจะมีแนวทางป้องกันแก้ไขน้ำอย่างไร โดยแบ่งแนวทางซึ่งสรุปให้ง่ายต่อความเข้าใจเป็นสองส่วนคือ  1. ส่วนที่ต้องมีการก่อสร้าง  2.  ส่วนที่ไม่ใช่การก่อสร้าง   ซึ่งผมสรุปเอาเองว่า นี่คือส่วนที่เป็นงานของโยธา และส่วนที่เป็นงานของผังเมืองหรือหน่วยงานอื่น  
ผมไม่ใช่คนมีความรู้อะไรมากมาย แต่ก็พอจะใช้สามัญสำนึกพิจารณาได้ว่า ในการจะทำอะไรนั้นมันจะต้องมีการวางแผนก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะเกิดไม่ให้เกิดขึ้น หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด  ฉะนั้นในเรื่องป้องกันน้ำท่วมนี้  น่าจะให้งานผังเมืองเป็นงานนำ ส่วนด้านโยธาต้องทำตามที่ผังเมืองเป็นผู้กำหนด  หากจะเทียบได้ก็เหมือนงานของสถาปนิกที่ต้องมาก่อนงานของวิศวกร ด้วยเหตุผลนี้กระมัง เขาจึงรวบกรมโยธาธิการและกรมผังเมืองเป็นกรมเดียวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2545
งานคราวนั้นปรากฏว่ามีการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนที่จะต้องสร้างโน่นสร้างนี่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ล้วนเป็นงานด้านโยธาทั้งสิ้น    ผมเห็นว่าถ้าเป็นพื้นที่เกิดผลกระทบแล้วต้องทำการแก้ไข มันก็ไม่ผิด  แต่ที่แปลกใจคือแผนงานโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำในลักษณะการป้องกันกลับไม่ปรากฏ  เช่น การเร่งประกาศกำหนดการใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆตามกฎหมายผังเมือง หรือเรื่องที่กฎหมายผังเมืองไปไม่ถึง และยังไม่ประกาศใช้ ก็ควรเสนอแนะจังหวัดให้มีการเสนอว่า ต้องมีข้อบัญญัติของเทศบาล  ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุดแท้แต่ว่าขอบเขตของปัญหาจะครอบคลุมไปถึงระดับใด
ยังมีข้อสังเกตที่ผมท้วงติงไปอีกสองประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือจากการสรุปสภาพภูมิประเทศและระบบลุ่มน้ำในสกลนคร  มีการนิยามคำที่ผิดจากสภาพความจริงเช่น จาก  “พื้นที่ชุมน้ำ” เป็น “พื้นที่น้ำท่วมประจำ” หรือที่เราคุ้นหูว่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งคำสองคำนี้ความหมายมันต่างกันคนละเรื่อง  และการที่ไม่มีการศึกษานิเวศป่าจึงไม่ปรากฏคำว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” ในรายงาน  ทำให้มองปัญหาผิด  มองปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นปัญหา  สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การตั้งโจทย์ผิด คำตอบจึงไม่มีทางที่จะถูกได้เลย
ประเด็นที่สองคือ  การสรุปสาเหตุของน้ำท่วมที่มีการละเว้นการกล่าวถึง ความผิดพลาดของหน่วยงาน หรือบุคลากรของรัฐ เพราะอะไรนั้นท่านผู้อ่านคงเข้าใจได้เองอยู่แล้ว ผมไม่มีเจตนาจะฟื้นฝอยหาตะเข็บกับใคร  หรือหน่วยงานใด แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเกิดอยู่เป็นประจำ หรือพูดให้แรงหน่อยก็คือผิดซ้ำซากนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นย่อยแต่ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวในที่นี้
ข้อสังเกตที่กล่าวมานี้ ผมคิดว่าในหลายๆโครงการที่ทางราชการว่าจ้างบริษัทเอกชนหรือสถาบันการศึกษาดังๆ มาทำการศึกษานั้น  มักจะมีลักษณะคล้ายๆกันหมด ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเพื่อนำไปสู่แผนงานโครงการที่คิดไว้ก่อนแล้ว ว่าจะทำอะไรใช้งบประมาณเท่าไร โดยผู้รับจ้างเป็นเพียงยันต์กันผีให้เกิดความชอบธรรมที่จะใช้งบประมาณเท่านั้นเอง
และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมจำเป็นจะต้องกล่าวถึงคือ ในขั้นตอนที่บริษัทหรือผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอผลการศึกษาแก่จังหวัดในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงให้ได้รับทราบ  ผมคิดว่าคำว่า  “จังหวัด”  ในที่นี้ต้องหมายรวมถึงประชาชนในพื้นที่โครงการนั้นด้วย  ไม่ได้หมายเพียงแค่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานภาครัฐหรือโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเท่านั้น
กรณีเรื่องแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ผมขอยืนยันว่า  งานผังเมืองจะต้องเป็นพระเอก งานโยธาจะต้องเป็นพระรอง เพราะหากผังเมืองทำงานได้ดี ก็เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะต้องมาตามแก้ไขในภายหลังซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณและเวลาที่มากกว่า แน่นอนครับการทำงานอย่างนี้มันเหมือนปิดทองหลังพระ นักการเมืองไม่ค่อยชอบ เพราะไม่ค่อยเป็นคะแนน แต่ถ้าสามารถหางบมาแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ มันเหมือนเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย เผลอๆได้เงินทอนอีกต่างหาก   และท้ายที่สุดนี้ถ้าจะให้ดีอยากให้นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรุณาแก้ไขชื่อ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เสียใหม่เป็น“กรมผังเมืองและโยธาธิการ” จะได้รู้ว่าพระเอกต้องมาก่อน กลัวอย่างเดียวครับว่ากรมนี้เล่นบทพระเอกไม่เป็น เพราะเป็นพระรองมานานเกินไป  ผมว่าพวกเราประชาชนมาช่วยกันร้องขอให้ผู้กำกับเลือกพระเอกพระรองให้เป็นหน่อย  เรื่องบ้านเรื่องเมืองนี้หากปล่อยพระเอกพระรองออกมาไม่ถูกจังหวะ ก็จะปราบผู้ร้ายไม่ได้ เดี๋ยวประชาชนจะตายเสียก่อน ไม่เป็นไปตามตำราที่ว่า “ กันไว้ย่อมดีกว่าแก้ เดี๋ยวมันจะแย่หากแก้ไม่ทัน ” จริงไหมครับ พี่น้อง….

                                                                                                   อีสานบิซวีค ๗๖
                                                                                                      ๔ พย.๕๓

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมเอาต้นฉบับบทความที่ส่งพิม์ในหนังสือพิมพ์ อีสานบิซวีค รายปักษ์มาลงไว้สำหรับผู้สนใจ และจะเป็นประโยชน์มากหากท่านได้อ่านแล้ว จะแลกความคิดเห็นต่อกัน

    ตอบลบ
  2. วันนี้เวลาผ่านมา 7 ปี สิ่งที่ผมว่าไว้ในวันนั้นมันปรากฎขึ้นแล้วจริงๆ และจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ 7 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนหาคนเชื่อบทความผมน้อยมากนะ

    ตอบลบ