วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หอการค้าทั่วประเทศพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ?


                                           ขอนแก่นแดนอีสานได้รับเลือกให้จัดการประชุมใหญ่หอการทั่วประเทศในปีนี้  และอีสานบีซวิคก็จะออกฉบับพิเศษให้ทันการประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย บรรณาธิการจึงขอให้ผมส่งบทความไวกว่าปกติ
              เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการประชุมใหญ่ของหอการค้าทั่วประเทศ  ผมจึงขอตั้งประเด็นโสเหล่ด้วยปัญหาที่มีผลกระทบระดับชาติและเป็นปัญหาที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดควรจะมีส่วนร่วมแก้ไขหรือช่วยลดปัญหาให้เบาบางลง หรืออาจจะทำให้ให้วิกฤตกลับเป็นโอกาสเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ส่วนคนระดับยอดสุดของสังคมไทยนั้นคงไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะเขาเหล่านั้นอยู่ที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะถือตัวเองเป็น “พลเมืองโลก”(Global Citizen)  และสำหรับบางคนแล้วประเทศไทยเป็นเพียงแผ่นดินที่อาศัยเกิดเท่านั้น
                ผมกำลังกังวลแทนนักธุรกิจในภูมิภาค และแทนคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ เนื่องจากจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economic Community : AEC. อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)  ภายใต้แนวคิด อาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว ( Single market and production base ) ซึ่งหมายถึงจะมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ใน 10 ประเทศสมาชิก และสามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศทั้งวัตถุดิบและแรงงาน  มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบเดียวกัน
                อันที่จริงแล้ว AEC. เป็นเพียง1 ใน 3 ของประชาคมย่อยในประชาคมอาเซียนเท่านั้น ยังมีอีก 2 ประชาคมย่อยที่เราไม่ค่อยได้รับรู้การเคลื่อนไหว หรือให้ความสนใจเท่าไรนักนั่นคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเลย แต่โลกกำลังตกอยู่ในวังวน ของเศรษฐกิจ จนไม่ได้คำนึงถึงสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมว่าจะเสื่อมสลายอย่างไร ขอเพียงให้เศรษฐกิจโตขึ้นมากๆ เป็นใช้ได้ ผมจึงจะยังไม่ชวนโสเหล่เรื่องนี้ เอาไว้โอกาสต่อไปค่อยว่ากันอีกที
                จากการสืบค้นและติดตามรับฟังเรื่องของ AEC.:ซึ่งยังมีน้อยมาก  ผมขอข้ามที่จะกล่าวถึงที่มาที่จะไปของ AEC.เพราะท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้ว หรือค้นหาข้อมูลได้ไม่ยาก ผมขอสรุปว่าการนำเอาประเทศสมาชิกอาเซียนมามัดรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันนั้น จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีอยู่ 5 ด้านคือ เสรีด้านการค้า ด้านบริการ ด้านการลงทุน ด้านเงินทุน และเสรีด้านแรงงานฝีมือ หากถามว่าในห้าด้านนี้มีข้อน่าห่วงอย่างไร ผมขอสรุปดังนี้ครับ
                เสรีด้านการค้า คือเลิกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกัน หรือลดอัตราจัดเก็บเหลือ 0 % ในรายการสินค้าที่เป็น Inclusive List ที่เริ่มไปแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2553 ใน 6 ประเทศ และในปี 2558 จะใช้กับอีก 4 ประเทศที่เหลือ การเปิดเสรีด้านนี้ เรามีทั้งทางได้และทางเสียอยู่ที่ฝีมือของนักธุรกิจไทยและรัฐบาล สำหรับนักธุรกิจใหญ่บ้านเราเชื่อว่าเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว แต่ระดับกลางถึงเล็กน่าห่วงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สนใจรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง และหากรัฐบาลไม่สนใจที่จะดูแลนักธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(SMEs) อย่างจริงใจแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาคมีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางสังคมระดับล่างมากที่สุด จะมองแต่ปริมาณตัวเลขทางการค้าอย่างเดียวคงไม่ได้
                เสรีด้านบริการ เราจะเสียเปรียบมากที่สุดคือสาขาคอมพิวเตอร์และคมนาคม แต่ในสาขาบริการการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ และบริการด้านสุขภาพถือเป็นจุดแข็งของไทย แต่จะยั่งยืนเพียงใดอยู่ที่วิสัยทัศน์ที่จะกำหนดนโยบายของรัฐบาลว่าจะทำเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อใคร
                เสรีด้านการลงทุน ประเทศสมาชิกที่มีเทคโนโลยี ความชำนาญ และมีเงินทุนมาก จะแย่งกันไปลงทุน หรือย้ายฐานผลิตไปประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 นี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ประเทศร่ำรวยที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน แต่แอบตั้งบริษัทนอมินี สัญชาติอาเซียนมาลงทุนในประเทศที่มีคอรัปชั่นสูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทุกวันนี้มีบริษัทนอมินีอยู่เต็มเมือง ทั้งๆที่ผิดกฎหมายรู้เห็นกันอยู่ แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถทำได้จริง จนอาจจะกล่าวได้ว่ามีมากจนแตะไม่ได้ เพราะบริษัทเหล่านั้นคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศนี้ไปเสียแล้ว
                เสรีด้านเงินทุน  ขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดเท่าใดนัก แต่โดยหลักการแล้วจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี รวมถึงการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนร่วมกัน  เวลาเหลืออีกเพียงแค่ 4 ปีเศษเท่านั้นก็จะต้องเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่ผมเองก็มีความเข้าใจที่จำกัดในเรื่องนี้ จึงขอข้ามไปก่อน
                เสรีด้านแรงงานฝีมือ จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง มาวันนี้ความกังวลของผมมากยิ่งขึ้นเพราะ
                1. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมาก การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอย่างเท่าเทียม  เป็นเหตุให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ และประเทศที่มีแรงงานมากแต่ค่าจ้างต่ำอย่าง พม่า เขมร และเวียดนา ทุกวันนี้เรามีแรงงานเถื่อนทั้งระดับแรงงาน และระดับช่างฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาหากินในประเทศมากมายหลายแสนคน หรืออาจจะเป็นล้านคนแล้ว หากเปิดแรงงานเสรี ผมเชื่อว่า แม้แต่อาชีพทำนาทำไร่ และปศุสัตว์ เราก็จะถูกเพื่อนบ้านเข้ามาแย่งทำกินแน่  ยิ่งลูกหลานชาวนาเดี๋ยวนี้มีปริญญากันหมดจนทำนาไม่เป็นหรือไม่ยอมทำ อย่างนี้แล้วแรงงานไทยจะอยู่อย่างไร ปัญหาสังคมคงจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูได้ไม่ยาก
                2. ปัญหาการพัฒนาความพร้อมของ “คนไทย” (ไม่ใช่ “ทรัพยากร” ที่ฝรั่งสอนให้เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์”หรือ Human Resource) ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต่างจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ไปไกลไม่เพียงแค่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรืออาเซียน+3  และอาเซียน+ 6  เท่านั้น  ส่วนการศึกษาไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน ต้องบอกเลยว่าล้มเหลวอย่างยิ่ง เราผลิตแต่ปริมาณ โดยไม่ใส่ใจในคุณภาพมาตลอด 40 ปี ทำให้เกิดปัญหาความด้อยศักยภาพด้านการแข่งขัน ไทยจึงเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในขณะนี้ ที่จริงแล้วเราควรประเมินคู่แข่งขันให้สูงไว้ก่อนเสมอ เพื่อความตื่นตัวและไม่ประมาท
                3. ข้าราชการไทยบางสาขาอาชีพ อย่างเช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรบางสาขา ตลอดจนครูอาจารย์ นักวิจัย ที่มากด้วยคุณภาพ รัฐอาจจะรักษาเขาเหล่านั้นไว้ไม่ได้ หากภาครัฐคิดแค่จะใช้เงิน หรือตำแหน่งงาน มาเป็นสิ่งผูกมัดหรือจูงใจ เพราะภาคเอกชนเขามีศักยภาพมากกว่าหลายช่วงตัว และการจะผูกมัดข้าราชการด้วยค่าตอบแทนที่เป็นเงิน และตำแหน่งงานในสถานการณ์ของการวิ่งเต้นเส้นสายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบอบราชการไทยจะเหลือแต่บุคคลากรไร้คุณภาพมาเป็นกำลังในการบริหารประเทศ เสมือนการนำรถห่วยราคาแพงไปลงแข่งขัน แถมได้คนขับไร้ความรับผิดชอบ ก็คงจะพาแหกโค้งตายกันหมดเท่านั้น
                อันที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่เอาแค่สามประเด็นข้างต้นนี้ ก็น่าจะหนักหนาสาหัสเกินเยียวยาแก้ไขได้ทันการ ผมอยากเห็นพี่น้องชาวหอการค้าต่างจังหวัด พิจารณาใคร่ครวญด้วยการมองไปที่ลูกหลานที่จะทำหน้าที่สืบทอดธุรกิจ มองไปที่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน ลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาจะอยู่กันอย่างไรหากปัญหานี้ยังถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป ท่านคงไม่เชื่อว่าภาครัฐที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองและข้าราชการที่คิดเอาแต่ประโยชน์และเอาตัวรอด จะสามารถรับมือกับปัญหาของประเทศได้โดยลำพัง โดยที่ภาคเอกชนไม่พยายามเข้าไปมีบทบาทอย่างจริงจัง อย่าคิดดูถูกความรู้ความสามารถของตนเอง บ้านเมืองรอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเข็มแข็งของภาคเอกชนไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเรายังทำเท่าเดิมจะไม่ทันการแล้ว และหากยังทำเหมือนเดิมก็คงไม่ต่างกับเติมฟืนสุมไฟเผาบ้านตัวเองล่ะครับ
                จากประเด็นปัญหาทั้งสามข้างต้น หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ตัวถ่วงและตัวเร่งปฏิกิริยาของปัญหา มาจากการ “คอรัปชั่น” การขาดธรรมาภิบาลของภาครัฐและเอกชน และการหย่อนยานด้านศีลธรรมของประชาชนคนไทย คือแก่นแท้ของปัญหา  ผมอยากเห็นหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยให้ความร่วมมือท่านประธานหอการค้าไทย นายดุสิต นนทะนาคร ที่ท่านเข้าใจปัญหาค่อนข้างชัด ในการขจัดหรือลดการคอรัปชั่นในบ้านเมืองนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ เพราะหากไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ป่วยการที่จะพูดเต็มปากว่าท่านคือ ตัวแทนของผู้ประกอบวิสาหกิจจากทั่วประเทศ  จริงไหมครับพี่น้อง........

                                                                                                             อีสานบิซวีค ๗๗
                                                                                                               ๑๕ พย.๕๓

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมสอดไส้...ไทเชียงคาน

ผมเป็นสมาชิก Chiangkhan.com เพราะมีความผูกพันธ์กับเมืองนี้มากว่ายี่สิบปี สองปีมานี้เชียงคานกำลังเปลี่ยนไปมาก ที่รับรู้ได้ทุกครั้งที่ไปในช่วงหลัง และเว็บไซต์นี้เกิดขึ้นโดยคนเชียงคานเองที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเขา แม้จะต้องถอยร่นกับกระแสวัฒนธรรมการท่องเที่ยวอย่างไร้สติ ที่เร่งเข้ามากอบโกยโดยไม่แยแสต่อสิทธิคนเชียงแต่อย่างใด ข้อความต่อไปนี้ผมคัดลอกมาจาทblog ของสมาชิกท่านหนึ่งของเว็บไซด์นี้ สท้อนความรู้สึกของคนเชียงคานกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเจ็บปวดของคนเชียงคานที่อยู่ริมโขง และคนที่คุ้นเคยกับเชียงคานในอดีตอย่างผม นี้เป็นบางส่วนเท่านั้น หากต้องการฟังเสียงของคนเชียงคานและผู้รักเชียงคานเข้าไปดูที่

http://www.chiangkhan.com/profiles/blogs/2066709:BlogPost:286278?commentId=2066709%3AComment%3A290417&xg_source=msg_com_blogpost



.......หลังจากที่เดินทอดน่องที่ริมโขง จากคำทักทาย กินข้าวแล้วเบาะ กินข้าวหรือยัง แลจะขาดหายไปมิใช่นำใจที่ขาดหาย แต่ผู้คนที่เป็นพ่อแม่พี่ป้าน้าอาหายไปไหนกันหมด

(เป็นกูก็หนีว่ะ แม่งเดินหลังบ้านหน้าบ้าน ยืนถ่ายรูป เป็นมึงมึงชอบหรือเปล่าว่ะ จะกินข้าวคนแปลกหน้าเดินผ่านหลังบ้าง ส่องกล้องเข้าไปในบ้าน จะต้องระวังแม่งจะถ่ายรูป จะนอน จะกิน จะเดิน ไม่เป็นส่วนตัว) ขอใช้คำแบบนี้เพราะมันจริง
บ้านเรือนที่แต่งแต้มสีสรร ข้างนอกไม้เก่า ข้างในสาดไฟไม่แคร์สภาวะโลกร้อน เวสป้าจอดหน้าร้าน ตู้ไปรษณีย์ส่วนตัวตั้งหน้าร้าน หลักกิโล ร้านขายขนมเก่าที่เปิดใหม่ตอนเป็นเด็กกินแค่ไม่กี่อัน ที่เหลือมาจากไหนฟ่ะ (เชียงคานมีขายขนมน้อยมาก กินแต่ไอติมลุงเติบ ข้าวปุ้น ตำส้ม)

กินสเต็ก นั่งจิบวายแดง ฟังเพลงแจ๊ส มองแม่น้ำโขง

ไม่ได้รังเกียจหรืออิจฉา แต่มันไม่ใช่ วัฒนธรรมของคนเชียงคาน


วันนั้นเห็นนักท่องเที่ยว เข้าไปซื้อของร้านอื่น ๆ เต็มสองข้างถนน แต่ร้านของคนเชียงคานร้านป้าคนหนึ่ง(ขออภัยจำไม่ได้ว่าชื่อร้านอะไร) ยืนเรียกลูกค้าให้ซื้อของ
"น้ำตาผมร่วง"
หรือว่าเราไม่มี วิถีที่จะเป็นเอกลักษณ์ของเรา จึงถูกคนอื่นมาหากินบนวิถีของเรา

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นางพญา วัดถ้ำขาม

พระผงนางพญา วัดถ้ำขาม


นางพญาวัดถ้ำขาม(เนื้อพิเศษ)

ความเป็นมา
                   ผู้สร้าง(ผู้เขียน)  มีความจำเป็นต้องหาของที่ระลึก  ไว้แจกให้ผู้เคารพนับถือ ที่มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่ (อดีต สส.อนงค์ ตงศิริ ปม.)  ในวันที่  25 ธันวาคม 2536  จึงตัดสินใจทำ  พระนางพญาเนื้อผง  เมื่อนำเรื่องไปปรึกษา  ท่านพระอาจารย์พัลลพ  จิรธัมโม  เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านคำประมง  ตำบลสว่าง  อำเภอพรรณนานิคม   จังหวัดสกลนคร  เพื่อขออนุญาตทำที่วัดท่าน  เพราะที่วัดท่านมีพระลูกวัดคือ ครูบาวีระ ฐิตวิรโย มีความรู้ในการทำพระเครื่อง   และก่อนหน้านั้นไม่นาน ท่านเพิ่งทำพระเครื่องจำนวน  84,000  องค์  เป็นพระเบญจภาคี เนื้อดินเผา  เพื่อบรรจุใส่ผนังพระอุโบสถวัดคำประมง  จึงขออนุญาตใช้  บล็อคพระนางพญา  ของท่านมาทำ โดยเปลี่ยนบล็อคด้านหลัง     เป็นยันต์คาถาย่อ นะ มะ พะ ทะ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร   ส่วนด้านบน เป็นตัว   อุ ของวัดคำประมง และ เขียนข้างล่างว่า วัดถ้ำขามซึ่งก็ได้ขออนุญาตท่าน  พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย เจ้าอาวาสวัดถ้ำขามแล้ว


ครูบาวีระ และต๋อม บนแพริมเขื่อนวัดคำประมง

                  ครูบาวีระฯ ได้ให้ไปหามวลสาร  พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เช่น น้ำมันตังอิ้ว  เปลือกหอย น้ำมันจันทร์ ผงธูป  ข้าวแห้ง  ดอกไม้แห้ง  กล้วยหอม หินสบู่ และปูนขาว เป็นต้น   ผมจึงไปหาเปลือกหอยแครง หอยขม หอยโข่ง แล้วเอามาเผาบดให้เป็นแป้ง  ดอกไม้แห้งจากกุฏิหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  (วัดถ้ำขาม) และ หลวงปู่สิม   พุทธาจาโร  (วัดคำประมง และ วัดถ้ำผาป่อง)   ผงธูปจากวัดป่าอุดมสมพร วัดถ้ำขาม   และ  วัดคำประมง
                  และเมื่อได้อุปกรณ์มวลสารครบแล้ว ก็ลงมือทำ   เมื่อกลางเดือน  ตุลาคม  2546    แพริมเขื่อนวัดคำประมง  โดยครูบาวีระ ฯ  ควบคุมการทำ  มีนายศักดิ์ชัย  ศรีวิชัย (ต๋อม)   เป็นลูกมือ  ทำอยู่ 6 วัน  จึงเสร็จ  ได้พระนางพญาวัดถ้ำขาม เนื้อผงและปิดทองเปลว (ทอง K)  ด้านหน้า 3,000 องค์*    และเนื้อพิเศษปิดทองคำเปลวแท้   อีก  403  องค์**  (ในโอกาสเดียวกันได้แบ่งเนื้อพิเศษ ไปสร้างพระเบญจภาคีวัดคำประมง  อีก  25  ชุด  ไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คนละ 5 ชุด)   เมื่อทำเสร็จแล้วก็ทำลายบล็อค  (ด้านหลัง)  โดยใช้ขวานทุบ   แล้วโยนลงเขื่อนที่ข้างแพนั้นเอง



เนื้อทั่วไป




      ชุดเบญจภาคี วัดคำประมง(พิเศษ)

มวลสารหลัก*
                    1. ข้าวเหนียวแห้งก้นบาตร หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี   วัดถ้ำขาม
                    2. ผงดอกบัว ดอกมะลิแห้ง จากหิ้งพระ กุฏิหลวงปู่เทสก์ และหลวงปู่ สิม (จากครูบาวีระ )
                    3. ผงและดินในกระถางธูป  จากวัดป่าอุดมสมพร และ วัดถ้ำผาป่อง(จากครูบาวีระ)
                    4. ผงจากแก่นขาม จากต้นมะขามวัดถ้ำขาม
                    5. ผงจากไม้มุงหลังคาเก่า กุฏิหลวงปู่มั่น วัดป่าภูริภัตโต บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม
มวลสารเสริม(รุ่นพิเศษ)**
                    1. เกศาอริยสงฆ์ 7 รูป  หลวงปู่ขาว อนาลโย    หลวงปู่ฝั้น อาจาโร    หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี
                                   หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  และ 
                                    พระอาจารย์วัน  อุตตโม           
                    2. ผงชานหมาก  หลวงปู่ฝั้น   หลวงปู่ขาว   และ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
                    3. ผง  ลูกพระพุทธเจ้า  5  พระองค์  ของหลวงพ่อจันทร์ดี เกสาโว
                    4. ดินรองน้ำล้างอัฐิ  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  (จากคุณวนิดา โมราราษฏ์)
                    5. ผงจีวร  หลวงปู่ฝั้น  ที่หลุดออกมาจากกองไฟพระราชทานเพลิงศพ(จากคุณวนิดา โมราราษฏร์)
            ผู้สร้างได้เอาสิ่งมงคลต่างๆ ที่ตัวเองได้สะสมมาและ จากครูบาวีระ จากญาติมิตร เช่น  คุณฮุย-คุณเฉลียว แต้ศิริเวชช์  คุณวนิดา โมราราษฏร์ (ลูกสาวคุณลุงโหมด โมราราษฏร์ ผู้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น และหลวงปู่ฝั้น)

การปลุกเสก และอธิษฐานจิต
                      เมื่อทำเสร็จแล้วมีเวลาผึ่งแห้ง(ตากลม)น้อยมาก  ทำให้เนื้อพระยังไม่แกร่ง แต่จำเป็นต้องรีบเข้าพิธีปลุกเสกในพิธีใหญ่ฉลองพระอุโบสถวัดคำประมง   ตลอดคืนวันที่ 16 พย. 2536 โดยพระเกจิ จำนวน 36 รูปเข้าร่วมพิธี   มีหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ   เป็นประธานนั่งปรก  ทั้งๆแรกเริ่มตั้งใจเพียงให้พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย อธิษฐานจิตให้ก็พอ     แต่ด้วยกุศลจิตที่ต้องการกระทำบูชาพระคุณของคุณแม่ จึงได้มีโอกาสเข้าพิธีปลุกเสกใหญ่ที่วัดคำประมง    และสิ่งที่ไม่คาดก็อุบัติขึ้นอีก   เมื่อพระอาจารย์อุทัย  ฌานุตตโม  (พระอาจารย์ติ๊ก)    พระลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่เทสก์ มาที่บ้านคุณฮุย แต้ศิริเวชช์ 
                       ผมเลยได้เข้าไปกราบเรียนปรึกษาท่านว่า  หากกระผมจะนำพระผงนางพญา   ที่จะทำไว้แจกในงานพระราชทานเพลิงศพแม่ไปให้หลวงปู่พิจารณาอธิษฐานจิตให้  จะได้ไหมครับ
                       ท่านตอบว่ากู  (ท่านชอบใช้สรรพนามอย่างนี้กับลูกศิษย์ใกล้ชิด)   เป็นคนตั้งกฎเองไม่ให้ใครเอาอะไรไปให้หลวงปู่ปลุกเสกหรืออธิษฐานจิตเด็ดขาด เพราะหลวงปู่ไม่ชอบ
                       เล่นเอาจ๋อยไปเหมือนกัน 
                       อีกครู่ท่านก็เอ่ยขึ้น   แต่กรณีโยมอนงค์    ท่านคงเมตตา พิจารณาให้    ว่าแต่มึงจะเอาขึ้นไป (ขึ้นวัดถ้ำขาม)  เมื่อไหร่
                       เลยกราบเรียนท่านไปว่า หากท่านอาจารย์เห็นไม่เป็นการรบกวนหลวงปู่จนเกินไป กระผมก็จะเอาขึ้นไปพรุ่งนี้เช้าครับ  (ซึ่งตรงกับวันอังคาร)   เพราะเวลาเหลือน้อยแล้วครับ
                        ท่านนั่งนิ่งอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนเอ่ยอย่างจริงจังว่า  ให้พวกมึงไปเย็นวันพฤหัส ช่วงก่อนหลวงปู่สรงน้ำ จะดีที่สุด และอย่าบอกนะว่ากูบอก
                        หลังจากได้ข้อแนะนำจากท่านพระอาจารย์ติ๊ก   กำลังใจและความเชื่อมั่นก็มีเพิ่มขึ้นเป็นกอง  และรอจนถึงบ่ายแก่ๆของวันพฤหัสขึ้น 5  ค่ำ  เดือน 12  ตรงกับ  วันที่  18 พฤศจิกายน  2536   วันนั้นเราไปด้วยกันแค่สองคนคือผู้เขียน และคุณฮุย   เอาผ้าขาวห่อกล่องพระทั้งหมด 3,528  องค์ (เนื้อปกติ 3000+พิเศษ 403+เบญจภาคีวัดคำประมง 125 องค์  รวมเป็น 3,528 )
                      พอถึงบันไดกุฏิหลวงปู่  เห็นญาติโยมคณะสุดท้ายกำลังลงจากกุฏิพอดี   เราเลยเป็นคณะปิดท้ายที่เข้าไปกราบหลวงปู่  และวันนั้นพระทรงวุฒิ  ซึ่งเป็นพระเลขา(ไม่ทราบใครตั้ง)  หรือที่ใครๆ  เรียกว่า  พระตู่ไม่อยู่ที่กุฏิหลวงปู่  เห็นว่าไปธุระในเมือง หรือต่างจังหวัด   เลยนึกในใจว่า วันนี้ ทำไมโชคดีอย่างนี้   ทศกัน  ไม่อยู่ ทำให้เข้ากราบหลวงปู่อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด  ระหว่างลูกหลาน กับหลวงปู่
                       พอได้จังหวะก็กราบเรียนหลวงปู่ไปว่า ขอโอกาสกระผม   ผมสร้างพระนางพญาไว้แจกแก่ผู้ที่จะมาในพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ครับ    และอยากขอเมตตาจากหลวงปู่พิจารณาแผ่จิตให้ด้วย  ครับกระผม และในใจขณะนั้นคิดว่า  หากดูหลวงปู่ ไม่สบายใจที่จะรับให้ ก็จะขอกราบลาขนกลับทันที จะไม่รบเร้าอย่างเด็ดขาด
                        แต่เหมือนสวรรค์โปรด หลวงปู่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆที่จะปฏิเสธเลย พร้อมถามว่า ไหน ดูสิเป็นพระอะไร  และแบมือขอดู   ผมจึงรีบแกะผ้าห่อหยิบให้ท่านดู  แต่พอยื่นถวายให้ท่านดู  ท่านพูดว่า เออ มองไม่เห็นหรอก  (อาจเพราะพระเล็ก และแสงในกุฏิก็ไม่สู้จะสว่างนัก)   เอ้า เอาไว้นี้แหละ    พร้อมกับให้พระที่อยู่คอยดูแลหลวงปู่มารับเอาห่อกล่องพระ  ยกไปไว้ข้างหัวเตียงหลวงปู่   เราก็พากันกราบลาหลวงปู่กลับด้วยความปลื้มปรีติยิ่ง
                       หลังจากวันนั้น 11 วันครูบาตู่(พระทรงวุฒ)โทรมาจากวัดถ้ำขาม   บอกให้ไปรับพระที่ฝากหลวงปู่พิจารณากลับได้แล้ว  เย็นวันนั้นผู้เขียนกับคุณฮุยก็ขึ้นไปที่วัดถ้ำขามอีกครั้งเพื่อไปขอรับพระกลับลงมา
                      และก่อนจะกลับ เลยยกพระทั้งหมดไปพบ  ท่านพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย(เจ้าอาวาสวัดถ้ำขาม)   เพื่อขอความเมตตาให้ท่านอธิษฐานจิตให้ปิดท้ายอีกครั้งที่ศาลา ใต้ชะง่อนหินวัดถ้ำขาม ท่านก็เมตตาบริกรรมสวดคาถาอธิษฐานจิตให้ตรงนั้นเลยทีเดียว  พอเสร็จแล้วก็กราบลาท่านกลับ
                      วันนั้น วันที่  29   พฤศจิกายน  2536  เป็นวันที่จำได้อย่างถนัดตาว่า เป็นวันเพ็ญขึ้น 15  ค่ำ เดือน 12 เพราะช่วงเวลาลงมาจากวัดถ้ำขาม  เป็นเวลาพลบค่ำ ได้เห็นพระจันทร์ดวงกลมใหญ่กำลังขึ้นจากขอบฟ้า ทางด้านขวามือของทางเดินลงจากวัด สวยงามมาก  จนรู้สึกขนลุกด้วยความปรีติ  ปรีติยินดีในบุญบารมีของคุณแม่ ที่ท่านได้สั่งสมมาทั้งทางโลกและทางธรรม  จึงทำให้การกระทำอะไรเพื่อบูชาคุณท่านราบรื่นอย่างเหนือความคาดหมายตลอดเวลา  ทั้งๆลูกๆเพียงแต่อยากจะทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อสนองคุณท่าน โดยไม่ได้ตั้งความหวังอะไรให้เลิศเลอเลย   แต่ก็มักจะได้มากกว่า  ดีกว่า  ที่อยากจะทำ ดังเช่นการสร้าง พระนางพญา วัดถ้ำขาม ครั้งนี้

ปล.พระทั้งหมด 3,528  องค์  แจกจ่าย  ดังนี้
             -   เนื้อปกติ 3,000 องค์ แจกในพิธีและหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ ประมาณ1,600 องค์ เก็บไว้แบ่งญาติ
                  พี่น้อง    ประมาณ 500 องค์ ที่เหลือ 900 องค์ถวายเจ้าอาวาสวัด ป่าอุดมสมพร(พระอาจารย์แปลง) และ วัดถ้ำขาม
                  (พระอาจารย์เขี่ยม) วัดละ 450 องค์
             -    เนื้อพิเศษ 403 องค์แบ่งผู้มีส่วนสร้าง ญาติพี่น้อง และแขกผู้ใหญ่ ทั้งหมด
             -    พระเบญจภาคี  125  องค์แบ่งผู้เกี่ยวข้อง 5 คน คนละ 5 ชุด


                                                                                                                                   ประสาท ตงศิริ



                                                          ...........................................

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กันไว้ดีกว่าแก้ เดี๋ยวแย่แล้ว จะแก้ไม่ทัน

หากประเทศไทยจะต้องถูกบันทึกในกินเนสบุ๊คออฟเร็คคอร์ดในช่วงนี้แล้วละก็  คงต้องบันทึกไว้ว่า เดือน ตุลาคมพ.ศ. 2553  เกิดอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วมมากที่สุด มูลค่าความเสียหายหนักที่สุด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งยังไม่มีปีใดเคยปรากฏความเสียหายมากและเป็นวงกว้างขนาดนี้มาก่อน ผมเชื่อว่าทุกท่านคงตั้งคำถามในใจว่า“มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ? ” คำตอบก็คงมีมากมาย  เช่น เกิดจากภาวะโลกร้อน เกิดเพราะมีปรากฏการณ์ลานีญา เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรืออาจจะทั้งสามประการมาผนวกกันก็ได้  แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัญหาระดับนานาชาติ  ซึ่งถ้าจะแก้ไขป้องกันกันจริงๆจังๆจะต้องเป็นวาระแห่งโลก ไม่ใช่เรื่องที่เป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศเราจะแก้ไขได้เองทั้งหมด
 แต่คราวนี้ผมขอยกปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยที่มีแนวโน้มมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกวันมาเป็นประเด็น โสเหล่  เราคนไทยจะต้องไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาของรัฐเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้จัดการแก้ไข แต่ต้องคิดว่าเป็นปัญหาของคนไทยทุกๆ คน ที่จะต้องเรียนรู้และติดตามอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะกว่าร้อยปีที่ผ่านมาของประเทศไทย ภาครัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของชาติได้เลย หากไม่ได้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม
โดยส่วนตัวแล้วผมชอบเข้าดูเว็บไซต์พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นประจำมาหลายปี  เพื่อดูแผนที่อากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม  ดูการเคลื่อนไหวของเมฆฝนและพายุ  มาปีนี้มันผิดสังเกตจากทุกปีกล่าวคือ  ปกติเส้นแนวร่องความกดอากาศต่ำจะเริ่มพาดผ่านจากเหนือลงใต้ไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่าปีนี้ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แนวร่องความกดอากาศต่ำผ่านอีสานล่างลงไปถึงภาคกลางและกรุงเทพ ฯ   เมื่อถึงอ่าวไทยแล้ว มันกลับย้อนคืนขึ้นมาอีก และมาหยุดอยู่แถวโคราช ชัยภูมิ ลพบุรี ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าวตลอดช่วงสองสัปดาห์นั้น จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคมความกดอากาศสูงจากจีนเคลื่อนลงมาไล่  แต่เจ้าร่องความกดอากาศต่ำนี้แทนที่จะค่อยๆ เคลื่อนลงไปภาคใต้ตอนบนตอนล่างตามลำดับ  มันกลับไปโผล่ที่สงขลา ปัตตานีเลยทีเดียว แถมเกิดพายุดีเปรสชั่นจากทะเลเคลื่อนมาสมทบซ้ำเข้าไปอีก เป็นผลให้มีฝนตกหนัก ด้วยปริมาณน้ำฝนมากกว่า 500 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง  หาดใหญ่จึงกลายเป็นเมืองบาดาลภายในไม่กี่ชั่วโมง
ผมเคยเห็นการคิดวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดบ้านผม  โดยมีขั้นตอนที่ให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ 3 ขั้นตอน ตั้งแต่การแนะนำโครงการ    การปรับปรุงแผนและการออกแบบ   จนถึงขั้นขอความเห็นครั้งสุดท้ายก่อนนำไปดำเนินการ  มีข้อสังเกตอยู่หลายประการที่ชวนสงสัย จนผมต้องนำไปถามบริษัทที่ปรึกษา และอยากจะนำมาเล่าสู่ฟัง
หลังจากที่บริษัทได้รับงานจากกรมโยธาธิการฯ มีการศึกษาข้อมูลในเชิงกายภาพทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำในจังหวัดสกลนครเป็นหลัก (แต่ข้ามการศึกษาในมิติของสังคม หรือแม้แต่ระบบนิเวศป่า)   แล้วมานำเสนอว่าเกิดน้ำท่วมที่ไหนอย่างไรและเพราะเหตุใด  และจะมีแนวทางป้องกันแก้ไขน้ำอย่างไร โดยแบ่งแนวทางซึ่งสรุปให้ง่ายต่อความเข้าใจเป็นสองส่วนคือ  1. ส่วนที่ต้องมีการก่อสร้าง  2.  ส่วนที่ไม่ใช่การก่อสร้าง   ซึ่งผมสรุปเอาเองว่า นี่คือส่วนที่เป็นงานของโยธา และส่วนที่เป็นงานของผังเมืองหรือหน่วยงานอื่น  
ผมไม่ใช่คนมีความรู้อะไรมากมาย แต่ก็พอจะใช้สามัญสำนึกพิจารณาได้ว่า ในการจะทำอะไรนั้นมันจะต้องมีการวางแผนก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่คาดว่าจะเกิดไม่ให้เกิดขึ้น หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด  ฉะนั้นในเรื่องป้องกันน้ำท่วมนี้  น่าจะให้งานผังเมืองเป็นงานนำ ส่วนด้านโยธาต้องทำตามที่ผังเมืองเป็นผู้กำหนด  หากจะเทียบได้ก็เหมือนงานของสถาปนิกที่ต้องมาก่อนงานของวิศวกร ด้วยเหตุผลนี้กระมัง เขาจึงรวบกรมโยธาธิการและกรมผังเมืองเป็นกรมเดียวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2545
งานคราวนั้นปรากฏว่ามีการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนที่จะต้องสร้างโน่นสร้างนี่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ล้วนเป็นงานด้านโยธาทั้งสิ้น    ผมเห็นว่าถ้าเป็นพื้นที่เกิดผลกระทบแล้วต้องทำการแก้ไข มันก็ไม่ผิด  แต่ที่แปลกใจคือแผนงานโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำในลักษณะการป้องกันกลับไม่ปรากฏ  เช่น การเร่งประกาศกำหนดการใช้พื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆตามกฎหมายผังเมือง หรือเรื่องที่กฎหมายผังเมืองไปไม่ถึง และยังไม่ประกาศใช้ ก็ควรเสนอแนะจังหวัดให้มีการเสนอว่า ต้องมีข้อบัญญัติของเทศบาล  ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุดแท้แต่ว่าขอบเขตของปัญหาจะครอบคลุมไปถึงระดับใด
ยังมีข้อสังเกตที่ผมท้วงติงไปอีกสองประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือจากการสรุปสภาพภูมิประเทศและระบบลุ่มน้ำในสกลนคร  มีการนิยามคำที่ผิดจากสภาพความจริงเช่น จาก  “พื้นที่ชุมน้ำ” เป็น “พื้นที่น้ำท่วมประจำ” หรือที่เราคุ้นหูว่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งคำสองคำนี้ความหมายมันต่างกันคนละเรื่อง  และการที่ไม่มีการศึกษานิเวศป่าจึงไม่ปรากฏคำว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” ในรายงาน  ทำให้มองปัญหาผิด  มองปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นปัญหา  สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การตั้งโจทย์ผิด คำตอบจึงไม่มีทางที่จะถูกได้เลย
ประเด็นที่สองคือ  การสรุปสาเหตุของน้ำท่วมที่มีการละเว้นการกล่าวถึง ความผิดพลาดของหน่วยงาน หรือบุคลากรของรัฐ เพราะอะไรนั้นท่านผู้อ่านคงเข้าใจได้เองอยู่แล้ว ผมไม่มีเจตนาจะฟื้นฝอยหาตะเข็บกับใคร  หรือหน่วยงานใด แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเกิดอยู่เป็นประจำ หรือพูดให้แรงหน่อยก็คือผิดซ้ำซากนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นย่อยแต่ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวในที่นี้
ข้อสังเกตที่กล่าวมานี้ ผมคิดว่าในหลายๆโครงการที่ทางราชการว่าจ้างบริษัทเอกชนหรือสถาบันการศึกษาดังๆ มาทำการศึกษานั้น  มักจะมีลักษณะคล้ายๆกันหมด ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเพื่อนำไปสู่แผนงานโครงการที่คิดไว้ก่อนแล้ว ว่าจะทำอะไรใช้งบประมาณเท่าไร โดยผู้รับจ้างเป็นเพียงยันต์กันผีให้เกิดความชอบธรรมที่จะใช้งบประมาณเท่านั้นเอง
และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมจำเป็นจะต้องกล่าวถึงคือ ในขั้นตอนที่บริษัทหรือผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอผลการศึกษาแก่จังหวัดในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงให้ได้รับทราบ  ผมคิดว่าคำว่า  “จังหวัด”  ในที่นี้ต้องหมายรวมถึงประชาชนในพื้นที่โครงการนั้นด้วย  ไม่ได้หมายเพียงแค่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยงานภาครัฐหรือโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเท่านั้น
กรณีเรื่องแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมของกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ผมขอยืนยันว่า  งานผังเมืองจะต้องเป็นพระเอก งานโยธาจะต้องเป็นพระรอง เพราะหากผังเมืองทำงานได้ดี ก็เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะต้องมาตามแก้ไขในภายหลังซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณและเวลาที่มากกว่า แน่นอนครับการทำงานอย่างนี้มันเหมือนปิดทองหลังพระ นักการเมืองไม่ค่อยชอบ เพราะไม่ค่อยเป็นคะแนน แต่ถ้าสามารถหางบมาแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ มันเหมือนเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย เผลอๆได้เงินทอนอีกต่างหาก   และท้ายที่สุดนี้ถ้าจะให้ดีอยากให้นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรุณาแก้ไขชื่อ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เสียใหม่เป็น“กรมผังเมืองและโยธาธิการ” จะได้รู้ว่าพระเอกต้องมาก่อน กลัวอย่างเดียวครับว่ากรมนี้เล่นบทพระเอกไม่เป็น เพราะเป็นพระรองมานานเกินไป  ผมว่าพวกเราประชาชนมาช่วยกันร้องขอให้ผู้กำกับเลือกพระเอกพระรองให้เป็นหน่อย  เรื่องบ้านเรื่องเมืองนี้หากปล่อยพระเอกพระรองออกมาไม่ถูกจังหวะ ก็จะปราบผู้ร้ายไม่ได้ เดี๋ยวประชาชนจะตายเสียก่อน ไม่เป็นไปตามตำราที่ว่า “ กันไว้ย่อมดีกว่าแก้ เดี๋ยวมันจะแย่หากแก้ไม่ทัน ” จริงไหมครับ พี่น้อง….

                                                                                                   อีสานบิซวีค ๗๖
                                                                                                      ๔ พย.๕๓