วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

ตำนานเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก


                                  ที่มาของเหรียญ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่นแรก



(เหรียญนี้ได้มาจาก น.อ.สมพร ทองโสภณ)

               เมื่อประมาณปี พศ. ๒๕๐๕ นายทหารช่างจาก กรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ สองนาย คือ    เกษม งามเอก และ สมพร ทองโสภณ  (จำยศขณะนั้นไม่ได้ แต่ตอนหลังครองยศนาวาอากาศเอกทั้งคู่)         ได้รับภารกิจให้เดินทางมาซ่อมเปลี่ยนเสากรวยผ้าบอกทิศทางลมที่สนามบินทหารสกลนคร (ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนครปัจจุบัน) ทั้งสองท่านเป็นผู้สนใจในปฎิปทาพระสงฆ์สายวัดป่า หรือสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถามเพื่อนทหารช่างอากาศด้วยกัน คือ น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ที่เป็นคนสกลนครโดยกำเนิด ว่าสกลนครมีพระอาจารย์รูปใดที่ชาวสกลนครเคารพศรัทธามากที่สุด น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ได้แนะนำให้ไปถามพี่ชายตนคือ อาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ อาจารย์ประจำโรงเรียนการช่างชายสกลนคร
              เมื่อมาถึงสกลนครแล้ว จึงไปพบอาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ  อาจารย์เสงี่ยมได้พาไปกราบพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ช่วงนั้นท่านมาจำวัดอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ออกจากตัวเมืองสกลนครไปทางอุดรธานีแค่ ๖ กม.เท่านั้น นับว่าสะดวกเพราะเดินทางไม่ไกล เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แล้ว นายทหารทั้งสองท่านต่างศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง จนเอ่ยปากขอสร้างเหรียญรูปเหมือนตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่พระอาจารย์ท่านไม่อนุญาตให้สร้าง


โบสถ์กลางน้ำ หรือ สิมน้ำ วัดป่าอุดมสมพร

             ถึงกระนั้นเมื่อมีโอกาสนายทหารทั้งสองท่านก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นประจำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๗   ได้แวะเข้าไปนมัสการพระอาจารย์อีกครั้งที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้พบเห็นพระอาจารย์กำลังนำชาวบ้านก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำหรือสิมน้ำ แต่ไม่สามารถตั้งเสาในน้ำได้  ด้วยความเป็นทหารช่าง ทั้งสองคนจึงถอดถุงเท้ารองเท้าพับขากางเกง   ลงน้ำพาชาวบ้านตั้งเสาจนสำเร็จ เป็นที่พอใจพระอาจารย์มาก และในที่สุดก็ได้ขออนุญาตทำเหรียญอันเนื่องจากการสร้างโบสถ์กลางน้ำในนามศิษย์ทหารอากาศผู้สร้างถวาย ถึงตอนนี้ท่านพระอาจารย์จึงยอมให้สร้างเหรียญรุ่นแรก นำไปสู่การมีผู้สร้างรุ่นอื่นๆตามมา กว่าร้อยรุ่น
               การสร้างเหรียญ "พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  รุ่นแรกศิษย์ ทอ. สร้างถวาย" ทำน้อยมากเพียงหลักร้อย มีเหรียญทองคำแค่ ๓ เหรียญเป็นของ นายปิยะ งามเอก(พี่ชาย น.อ.เกษม งามเอก) น.อ.เกษม งามเอกแค่สองเหรียญ และ น.อ.สมพร ทองโสภณ (ซึ่งปั๊มพร้อมรุ่นสอง เพราะตอนแรกหาทองไม่ทัน)เป็นเหรียญที่สาม  เหรียญทองแดงซึ่งเป็นเหรียญทดลองบล็อค สิบกว่าเหรียญ นอกนั้นเป็นเหรียญอัลปาก้าเนื้อพิเศษ(ไม่ปรากฏว่ามีเหรียญร่มดำ กะไหล่ทอง หรืออื่นใดนอกจากที่กล่าวมา)

                                                                                                             ประสาท ตงศิริ
                                                                                                              ๑๗ เม.ย. ๕๗

ปล.ข้อมูลที่นำมานี้ทั้งหมดได้มาจากการสนทนาของผู้เขียน กับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้านพัก กม.ที่๒๗ ดอนเมือง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องราวการทำเหรียญต่างๆในนามของศิษย์ ทอ.ถวายพระเกจิต่างๆทั่วประเทศให้ฟัง ทั้งการไปกราบขออนุญาตทำ ที่มาของการออกแบบหน้าหลัง ยันต์ อักขระคาถาต่างๆที่กำหนดลงไปในเหรียญแต่ละท่าน


ลักษณะพิเศษของเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก

             ๑.ความหนากว่าเหรียญทั่วๆไป ถึง ๒.๒ มิลลิเมตร


๒.ใช้แผ่นโลหะผสม(อัลปาก้าตามภาษาตลาด) ที่แตกต่างจากเหรียญทั่วๆไปที่สร้างกัน

ภาพนี้ได้รับการร้องขอมาจากแฟนๆว่า "อยากดูขอบเหรียญของแท้ๆเป็นอย่างไร" ก็เลยจัดให้ครับ
ทั้งๆทีผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่ารอยขอบเหรียญปลอมไม่ได้ แต่เชื่อในสนิมแดงของผิวเหรียญมากกว่า




ขอบคุณเจ้าของเหรียญ(ไม่ประสงค์ให้ออกนาม) ที่ให้ยืมมาถ่ายภาพ เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน

ภาคผนวก

              เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาบันทึกไว้นี้ได้มาจากการพูดคุยกับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้าน กม.๒๗ ดอนเมืองเมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นคุณปิยะ และ น.อ.เกษม งามเอก ท่านเสียชีวิตแล้วทั้งคู่   จากการพูดคุยในคราวนั้นทำให้ผู้เขียนได้ทราบเรื่องราวเบื้องหลังและที่มาที่ไปของรูปทรงเหรียญ ยันต์ คาถาต่างๆ ในเหรียญพระอริยสงฆ์ที่ "ศิษย์ ท.อ. สร้างถวาย" เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุย หลวงพ่อเกษม หลวงปู่ฝั้น ฯลฯ 
               และส่วนสำคัญคือเหตุที่พระอาจารย์ยอมให้สร้างเหรียญรุ่นนี้นั้น ท่านเคยพูดบ่อยครั้งให้ญาติโยมฟังถึงเรื่องที่ศิษย์ ท.อ.ทั้งสองท่านชนะใจท่านในการตั้งเสาโบสถ์กลาวน้ำครั้งนั้น

*บทความนี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่มาก ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมอีกในโอกาสต่อไป