วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพเก่า เล่าเรื่องเมืองสกลนคร


          ภาพเก่าๆ หากเราเอามาพิจารณาค้นคว้าเรื่องราวในอดีต นอกจากจะเห็นภาพจริงๆของบ้านเมือง ผู้คนในยุคสมัยนั้น ยังสามารถดึงเรื่องราวในประเทศ ภูมิภาค และโลกยุคนั้นมา ให้เห็นความเกี่ยวพันกับทั้งท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างคลิปนี้

http://www.youtube.com/watch?v=kOyNlRtadu4

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กรณีดอนสวรรค์ สวรรค์เป็นผู้กำหนด


กรณีดอนสวรรค์ สวรรค์เป็นผู้กำหนด



จากที่ผู้เขียนต้องตอบคำถามเรื่องราวทุกระยะต่อกรณี ข้อพิพาทเกาะดอนสวรรค์ ในฐานะหนึ่งในผู้เริ่มเปิดประเด็นนี้สู่สาธารณะและก็ตอบแบบเปิดเทปม้วนเก่าอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่มีคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนต้องใช้ความคิดอย่างมากในการตอบ คือคำถามที่ว่าอะไรที่ทำให้คนสกลทุกหมู่เหล่าลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้กันมากมายกว้างขวางขนาดนี้?” หากจะตอบแบบดูดี ดูเท่ทันสมัยก็คงต้องตอบว่าเพราะชาวสกลนครเป็นผู้เข้าถึงการใช้สิทธิชุมชน” ผู้เขียนก็คงต้องถูกถามต่อไปอีกว่า อะไรที่ทำให้เชื่ออย่างนั้น กรุณาอธิบายขยายความหน่อยถึงตอนนี้ผู้เขียนก็คงต้องอึ้ง และต้องแอบคิดในใจว่าพี่น้องผมเข้าถึงจริงหรือ? หรือเขาลุกขึ้นมาเพราะอะไรกันแน่? เพราะสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๖-๖๗ นั้นใช่ว่าแค่อ่านกฏหมาย อ่านตำรา หรือฟังบรรยายแล้วทำความเข้าใจไม่กี่นาที่กี่ชั่วโมงก็เข้าถึงได้ จนสามารถเอาไปตอบเหมือนนักเรียนตอบข้อสอบได้อย่างแน่นอน ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ชาวสกลนครเข้าใจกฏหมายรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่อยู่ที่เขามีสิ่งเร้านำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการลุกขึ้นมาปกป้อง เรียกร้องในการจัดการดอนสวรรค์ตามสิทธิของเขา ด้วยเหตุปัจจัยที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า 
แล้วอะไรคือสิ่งเร้า คงต้องตอบว่า “สำนึกแห่งความเป็นเจ้าของร่วม” คนถามก็คงจะค้านว่า ปกติแล้วความเป็นเจ้าของร่วมของคนสกลนครก็เห็นมีอยู่มากมายที่ถูกละเมิด ถูกริดรอนจากหลายฝ่าย เช่น การรุกพื้นที่สาธารณะ หนองน้ำ หรือที่ป่าสงวน หรือแม้แต่หนองหารเองก็ถูกทั้งราชการ และราษฏรบุกรุกทำลาย แต่ก็ไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันถึงขนาดนี้ ฉะนั้นมันต้องมีอะไรที่มากกว่าความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันต่อดอนสวรรค์ อะไรที่พิเศษมากกว่ากรณีอื่นๆ เมื่อมานั่งพิจารณาดูแล้ว ก็น่าจะมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ

. ดอนสวรรค์เป็นสัญลักษณ์พิเศษ  ด้วยหนองหารมีพื้นที่กว่า ๗๖,๐๐๐ ไร่ มีเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า ๓๐ เกาะ มีดอนสวรรค์เป็นเกาะใหญ่สุดที่มีพื้นที่ ๑๐๐ ไร่เศษ มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ถึงแม้จะถูกแผ้วถางไปแล้วเกือบครึ่ง และถูกน้ำท่วมกลืนชายฝั่งไปจากการสร้างประตูควบคุมน้ำสุรัสวดีที่ต้นน้ำก่ำ ทำให้ระดับน้ำไม่ได้ลดลงมากในหน้าแล้งเหมือนในอดีต  ด้วยคุณลักษณะพิเศษนี้ที่เกาะอื่นๆ ไม่มี ดอนสวรรค์จึงเป็นเสมือนสวนสาธารณะธรรมชาติกึ่งดอนปู่ตา ที่ประชาชนคนสกลนครใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพกาล เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนคนรอบหนองหาร มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตำนานความเชื่อ  ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพีธีกรรมทั้งทางศาสนา และความเชื่ออื่นๆ มาโดยตลอด โดยไม่มีใครคณะใดคณะหนึ่งแสดงกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ ด้วยองค์ประกอบที่ว่านี้จึงทำให้ดอนสวรรค์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางจิตวิญญานอันลึกซึ้งของคนสกลนคร แม้บางคนอาจจะไม่เคยเดินทางขึ้นไปบนดอนสวรรค์เลยในชีวิต เพียงมองเห็นจากฝั่งแต่ก็ผูกพันเสมือนเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

. คู่กรณีเป็นคนนอก  ตามพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ ชาวสกลนครได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ใกล้ชิดพระสายวิปัสสนากรรมฐานตามแนวปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เห็นว่าผู้ที่ต้องการให้ออกเอกสารสิทธิ์เป็นที่ธรณีสงฆ์คือพระสายอื่น ที่ถือว่าเป็นคนนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยในสกลนครเสมือนแขกมาบ้าน ที่เมื่อก่อนชาวสกลนครไม่ได้แสดงออกถึงความรังเกียจกีดกันแต่อย่างใด แต่ก็เฝ้ามองด้วยความระแวงสงสัยในแนวทางปฏิบัติที่แตกต่าง

. องค์กรภาคประชาชนเข้มแข็ง  การที่ชาวสกลนครไม่มีนักการเมืองระดับชาติที่มีตำแหน่งใหญ่โตในทุกรัฐบาลเหมือนจังหวัดข้างเคียงมานานมาก จึงต้องพยายามพึ่งพิงตัวเองไว้ก่อน ทำให้เกิดองค์กรภาคประชาชนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ไม่ว่าหอการค้าจังหวัด ชมรมสมาคมต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนร่วมมือกับเครือข่ายที่ไม่ใช่ราชการ (NGO) ข้างนอกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ทุกองค์กรจึงรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมเดินไปด้วยกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายรักษาดอนสวรรค์เพื่อไทยสกล (รดส.) คัดเลือกกรรมการและประธานกันเอง ว่าจะให้ใครเป็นในช่วงใด สถานการณ์ใด หรือจะให้องค์กรใดนำ เพราะต่างไม่ได้ถือเอาประโยชน์ส่วนตนหรือคณะตนเป็นที่ตั้ง

. สิ่งเหนือธรรมชาติ  กรณนี้ไม่ค่อยอยากเขียน เพราะมันดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาเรียบเรียง อธิบายความให้เป็นเหตุเป็นผลจับต้องหรือคิดคำนวณเป็นตัวเลขได้ ประกอบกับข้อจำกัดของผู้เขียน แต่ก็ด้วยกำลังใจจากคำสอนของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พูดเสมอมาว่า ภูมิวัฒนธรรมนั้น มันเป็นเรื่องของคนกับคน คนกับธรรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ประเด็นนี้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีอะไรที่เหนือความคาดหมาย เหมือนจักรวาลจัดสรร เหมือนสวรรค์กำหนด หรือโชคชะตาบารมีของสิ่งที่มองไม่เห็นกำหนดให้สรรพสิ่งต้องเป็นไปตามนั้น ผู้เขียนจะไม่เล่าอะไรให้คิดตามหรือขัดแย้งเพียงแค่อยากบอกว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้น ได้เกี่ยวข้องกับผู้คนและสถานการณ์ต่างๆ มากมาย เมื่อมานั่งคิดย้อนหลัง ก็เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ทำไมจึงมีคำว่า บังเอิญ หรือเผอิญ เกิดขึ้นบ่อยมาก นับตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าจะมีการแจกโฉนดดอนสวรรค์มาจนถึงปัจจุบัน มีหลายสิ่งหลายอย่างและคนหลายคนที่เข้ามาสอดรับกันอย่างพอดี ที่ทำให้การคัดค้านเดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด

กล่าวโดยสรุป กรณีดอนสวรรคกับการเรียกร้องสิทธิชุมชนเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่ไม่ได้มีการเตรียมการ หรือวางรูปแบบองค์กรตายตัวไว้เพื่อเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน โดยอาศัยความจริงใจในการขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนร่วมกันของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (เทศบาลนครสกลนคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร) แม้เบื้องต้นการจัดขบวนต้องอาศัยระบบจัดตั้งจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่พอต้องขับเคลื่อนต่อนานขึ้น เครือข่ายก็ได้ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการประชุมกรรมการเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเป้าหมาย ๔ ข้อ เป็นตัวกำหนดชัดเจน ได้แก่

1.คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค ์เพื่อให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันสืบไป

2.เพื่อดำเนินการให้มีการเพิกถอนชื่อ วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ออกจากสาระบบทะเบียนวัดร้าง ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  3.ปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่นและหวงแหนผืนแผ่นดินอันเป็นสาธารณสมบัติของชาวสกลนคร
4.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาดอนสวรรค์เชิงอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดึกดำบรรพ์ให้ยั่งยืน

หากถามว่ารูปแบบการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชุมชนคนสกลนครจะเป็นแบบอย่างให้แก่ที่อื่นได้หรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่า ทั้งเป็นแบบได้ และเป็นแบบไม่ได้ ที่เป็นได้กอย่างเช่น ภาคประชาชนหลายๆองค์กรมารวมตัวกันทำกิจกรรมตามความถนัดความชอบ  หรือตามปัญหาร่วมของสมาชิกองค์กรนั้นๆ โดยมีองค์กรอื่นๆให้การสนับสนุนหรือให้กำลังใจตามสมควร แลัวก็มาร่วมกันทำกิจกรรมในเทศกาลหรือในสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่มีผลกระทบร่วมกันทั้งจังหวัดอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนที่ว่าจะเป็นแบบไม่ได้นั้น อยู่ที่องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่ใช่กรณีปกติที่จะเกิดได้บ่อยๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะหล่อเลี้ยงกันต่อไปอย่างไร ด้วยอะไร (อะไรในที่นี้คือประเด็นหรือภารกิจ) สำหรับผู้เขียนแล้วกรณีดอนสวรรค์จะเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดที่จะทำให้สำเร็จ และหากทำสำเร็จตามเป้าหมายได้ทั้ง ๔ ข้อ ก็คงไม่มีเรื่องอื่นที่ชาวสกลนครจะทำไม่สำเร็จภายใต้คำว่า สิทธิชุมชนคนสกลนครใครจะละเมิดมิได้เป็นสิทธิที่เหนือกว่าความเชื่อทางการเมือง เหนือความเป็นเชื้อชาติ และเหนือความเชื่อในลัทธิ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตนหรือพวกตน หากกรณีดอนสวรรค์จะเป็น สกลนครโมเดล ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจในมาตุภูมิ ก็จะน่าจะเป็นเป้าประสงค์สูงสุดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนครับ.

เพลงฮักดอนสวรรค์

http://www.youtube.com/watch?v=PX2Ay18RPu4

                                                              เพลงสูดขวัญดอนสวรรค์

http://www.youtube.com/watch?v=H8mkHSV5sa8