วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ซุ้มกอรุ่น "มีธรรมไม่มีทุกข์" วัดถ้ำพระภูวัว





เจตนารมณ์ 

ที่มาของการสร้างพระซุ้มกอเนื้อผงรุ่น "มีธรรม ไม่มีทุกข์"  ผู้สร้างมีเหตุผล ๓ ประการคือ

        ประการที่ ๑  ผู้สร้างเคยสร้างพระนางพญาวัดถ้ำขาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  (ดูอีกโพสต์ในบล็อกนี้)  และตั้งใจไว้ว่าหากเป็นไปได้ก็จะสร้างพระให้ครบชุดเบญจภาคีในยุคที่พระลูกศิษย์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี  กำลังเป็นผู้นำกองทัพธรรมรุ่นที่สาม ที่กำลังเจริญรอยตามพระเดชพระคุณพ่อแม่ครูจารย์


เศษเศียรพระที่วัดเก็บไว้
        ประการที่ ๒  ในสมัยที่ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  (วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร)  ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (วัดป่าหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี)  ได้ธุดงค์ไปป่าเขตภูวัว (จังหวัดบึงกาฬปัจจุบัน) โดยมีหลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย (วัดเขาสุกิม จันทบุรี) เป็นสามเณรติดตาม  พระอาจารย์ทั้งสองท่านได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นที่หน้าผาข้างน้ำตกทางทิศตะวันออกของภูวัว ด้วยวัสดุที่หาได้ตามป่าเขาและหมู่บ้านในบริเวณนั้น และให้ชื่อว่า "พระพุทธโคตโม" เมื่อกาลเวลาผ่านมากว่า ๖๐ ปี ฝนที่ตกหนักทำให้ส่วนเศียรพระที่ชำรุดอยู่เดิมตกลงมาแตกกระจาย  ทางวัดจึงได้ทำการซ่อมแซมใหม่แต่ยังคงรูปแบบเดิม ส่วนเศียรพระเก่าก็เก็บใส่กล่องไว้ที่ศาลาการเปรียญ  ผู้สร้างไปเห็นเกิดความเสียดาย จึงกราบขออนุญาตจากพระอาจารย์เสถียร คุณวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระภูวัวนำเศษเศียรเหล่านั้นมาซ่อมประกอบใหม่เนื่องจากเป็นพระที่พ่อแม่ครูจารย์ท่านได้ทำไว้  เมื่อเสร็จแล้วจึงจะนำกลับไปถวายวัดตามเดิม  ผู้สร้างได้นำเศียรพระเก่าไปให้พระอาจารย์วีระสำนักสงฆ์ถ้ำเทิ้งนาคนิมิตซ่อมให้  เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็จะนำเศษอิฐดินและปูนส่วนที่ยังเหลืออยู่นำเข้าบรรจุในเศียร  ผู้สร้างได้ขอเศษอิฐดินและปูนส่วนหนึ่งไปทำมวลสารสร้างพระซุ้มกอชุดนี้ โดยเลียนแบบพระพักตร์ "พระพุทธโคตโม" สร้างพิมพ์เป็นปางมารวิชัยแทนปางสมาธิ

พระพุทธโคตโม ริมธารน้ำตกถ้ำพระภูวัว
นำส่วนผิวมาเรียงก็พอจะประกอบใหม่ได้


      

















           

          ประการที่ ๓  เนื่องจากพระสร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๕๗  ผู้สร้างจึงได้นำพระชุดนี้ทั้งหมดไปอยู่ในการพิจารณาของพระอาจารย์เสถียร คุณวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระภูวัว  พระอาจารย์ได้เมตตาอธิษฐานจิตตลอดพรรษา และพระอาจารย์ได้แจกเป็นที่ระลึกในวันทอดพระกฐินวัดถ้ำพระภูวัว ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗  

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

ตำนานเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก


                                  ที่มาของเหรียญ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่นแรก



(เหรียญนี้ได้มาจาก น.อ.สมพร ทองโสภณ)

               เมื่อประมาณปี พศ. ๒๕๐๕ นายทหารช่างจาก กรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ สองนาย คือ    เกษม งามเอก และ สมพร ทองโสภณ  (จำยศขณะนั้นไม่ได้ แต่ตอนหลังครองยศนาวาอากาศเอกทั้งคู่)         ได้รับภารกิจให้เดินทางมาซ่อมเปลี่ยนเสากรวยผ้าบอกทิศทางลมที่สนามบินทหารสกลนคร (ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนครปัจจุบัน) ทั้งสองท่านเป็นผู้สนใจในปฎิปทาพระสงฆ์สายวัดป่า หรือสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถามเพื่อนทหารช่างอากาศด้วยกัน คือ น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ที่เป็นคนสกลนครโดยกำเนิด ว่าสกลนครมีพระอาจารย์รูปใดที่ชาวสกลนครเคารพศรัทธามากที่สุด น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ได้แนะนำให้ไปถามพี่ชายตนคือ อาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ อาจารย์ประจำโรงเรียนการช่างชายสกลนคร
              เมื่อมาถึงสกลนครแล้ว จึงไปพบอาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ  อาจารย์เสงี่ยมได้พาไปกราบพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ช่วงนั้นท่านมาจำวัดอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ออกจากตัวเมืองสกลนครไปทางอุดรธานีแค่ ๖ กม.เท่านั้น นับว่าสะดวกเพราะเดินทางไม่ไกล เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แล้ว นายทหารทั้งสองท่านต่างศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง จนเอ่ยปากขอสร้างเหรียญรูปเหมือนตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่พระอาจารย์ท่านไม่อนุญาตให้สร้าง


โบสถ์กลางน้ำ หรือ สิมน้ำ วัดป่าอุดมสมพร

             ถึงกระนั้นเมื่อมีโอกาสนายทหารทั้งสองท่านก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นประจำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๗   ได้แวะเข้าไปนมัสการพระอาจารย์อีกครั้งที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้พบเห็นพระอาจารย์กำลังนำชาวบ้านก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำหรือสิมน้ำ แต่ไม่สามารถตั้งเสาในน้ำได้  ด้วยความเป็นทหารช่าง ทั้งสองคนจึงถอดถุงเท้ารองเท้าพับขากางเกง   ลงน้ำพาชาวบ้านตั้งเสาจนสำเร็จ เป็นที่พอใจพระอาจารย์มาก และในที่สุดก็ได้ขออนุญาตทำเหรียญอันเนื่องจากการสร้างโบสถ์กลางน้ำในนามศิษย์ทหารอากาศผู้สร้างถวาย ถึงตอนนี้ท่านพระอาจารย์จึงยอมให้สร้างเหรียญรุ่นแรก นำไปสู่การมีผู้สร้างรุ่นอื่นๆตามมา กว่าร้อยรุ่น
               การสร้างเหรียญ "พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  รุ่นแรกศิษย์ ทอ. สร้างถวาย" ทำน้อยมากเพียงหลักร้อย มีเหรียญทองคำแค่ ๓ เหรียญเป็นของ นายปิยะ งามเอก(พี่ชาย น.อ.เกษม งามเอก) น.อ.เกษม งามเอกแค่สองเหรียญ และ น.อ.สมพร ทองโสภณ (ซึ่งปั๊มพร้อมรุ่นสอง เพราะตอนแรกหาทองไม่ทัน)เป็นเหรียญที่สาม  เหรียญทองแดงซึ่งเป็นเหรียญทดลองบล็อค สิบกว่าเหรียญ นอกนั้นเป็นเหรียญอัลปาก้าเนื้อพิเศษ(ไม่ปรากฏว่ามีเหรียญร่มดำ กะไหล่ทอง หรืออื่นใดนอกจากที่กล่าวมา)

                                                                                                             ประสาท ตงศิริ
                                                                                                              ๑๗ เม.ย. ๕๗

ปล.ข้อมูลที่นำมานี้ทั้งหมดได้มาจากการสนทนาของผู้เขียน กับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้านพัก กม.ที่๒๗ ดอนเมือง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องราวการทำเหรียญต่างๆในนามของศิษย์ ทอ.ถวายพระเกจิต่างๆทั่วประเทศให้ฟัง ทั้งการไปกราบขออนุญาตทำ ที่มาของการออกแบบหน้าหลัง ยันต์ อักขระคาถาต่างๆที่กำหนดลงไปในเหรียญแต่ละท่าน


ลักษณะพิเศษของเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก

             ๑.ความหนากว่าเหรียญทั่วๆไป ถึง ๒.๒ มิลลิเมตร


๒.ใช้แผ่นโลหะผสม(อัลปาก้าตามภาษาตลาด) ที่แตกต่างจากเหรียญทั่วๆไปที่สร้างกัน

ภาพนี้ได้รับการร้องขอมาจากแฟนๆว่า "อยากดูขอบเหรียญของแท้ๆเป็นอย่างไร" ก็เลยจัดให้ครับ
ทั้งๆทีผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่ารอยขอบเหรียญปลอมไม่ได้ แต่เชื่อในสนิมแดงของผิวเหรียญมากกว่า




ขอบคุณเจ้าของเหรียญ(ไม่ประสงค์ให้ออกนาม) ที่ให้ยืมมาถ่ายภาพ เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน

ภาคผนวก

              เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาบันทึกไว้นี้ได้มาจากการพูดคุยกับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้าน กม.๒๗ ดอนเมืองเมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นคุณปิยะ และ น.อ.เกษม งามเอก ท่านเสียชีวิตแล้วทั้งคู่   จากการพูดคุยในคราวนั้นทำให้ผู้เขียนได้ทราบเรื่องราวเบื้องหลังและที่มาที่ไปของรูปทรงเหรียญ ยันต์ คาถาต่างๆ ในเหรียญพระอริยสงฆ์ที่ "ศิษย์ ท.อ. สร้างถวาย" เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุย หลวงพ่อเกษม หลวงปู่ฝั้น ฯลฯ 
               และส่วนสำคัญคือเหตุที่พระอาจารย์ยอมให้สร้างเหรียญรุ่นนี้นั้น ท่านเคยพูดบ่อยครั้งให้ญาติโยมฟังถึงเรื่องที่ศิษย์ ท.อ.ทั้งสองท่านชนะใจท่านในการตั้งเสาโบสถ์กลาวน้ำครั้งนั้น

*บทความนี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่มาก ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมอีกในโอกาสต่อไป

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพเก่า เล่าเรื่องเมืองสกลนคร


          ภาพเก่าๆ หากเราเอามาพิจารณาค้นคว้าเรื่องราวในอดีต นอกจากจะเห็นภาพจริงๆของบ้านเมือง ผู้คนในยุคสมัยนั้น ยังสามารถดึงเรื่องราวในประเทศ ภูมิภาค และโลกยุคนั้นมา ให้เห็นความเกี่ยวพันกับทั้งท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างคลิปนี้

http://www.youtube.com/watch?v=kOyNlRtadu4

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กรณีดอนสวรรค์ สวรรค์เป็นผู้กำหนด


กรณีดอนสวรรค์ สวรรค์เป็นผู้กำหนด



จากที่ผู้เขียนต้องตอบคำถามเรื่องราวทุกระยะต่อกรณี ข้อพิพาทเกาะดอนสวรรค์ ในฐานะหนึ่งในผู้เริ่มเปิดประเด็นนี้สู่สาธารณะและก็ตอบแบบเปิดเทปม้วนเก่าอย่างเป็นอัตโนมัติ แต่มีคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนต้องใช้ความคิดอย่างมากในการตอบ คือคำถามที่ว่าอะไรที่ทำให้คนสกลทุกหมู่เหล่าลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้กันมากมายกว้างขวางขนาดนี้?” หากจะตอบแบบดูดี ดูเท่ทันสมัยก็คงต้องตอบว่าเพราะชาวสกลนครเป็นผู้เข้าถึงการใช้สิทธิชุมชน” ผู้เขียนก็คงต้องถูกถามต่อไปอีกว่า อะไรที่ทำให้เชื่ออย่างนั้น กรุณาอธิบายขยายความหน่อยถึงตอนนี้ผู้เขียนก็คงต้องอึ้ง และต้องแอบคิดในใจว่าพี่น้องผมเข้าถึงจริงหรือ? หรือเขาลุกขึ้นมาเพราะอะไรกันแน่? เพราะสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๖-๖๗ นั้นใช่ว่าแค่อ่านกฏหมาย อ่านตำรา หรือฟังบรรยายแล้วทำความเข้าใจไม่กี่นาที่กี่ชั่วโมงก็เข้าถึงได้ จนสามารถเอาไปตอบเหมือนนักเรียนตอบข้อสอบได้อย่างแน่นอน ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ชาวสกลนครเข้าใจกฏหมายรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่อยู่ที่เขามีสิ่งเร้านำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการลุกขึ้นมาปกป้อง เรียกร้องในการจัดการดอนสวรรค์ตามสิทธิของเขา ด้วยเหตุปัจจัยที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า 
แล้วอะไรคือสิ่งเร้า คงต้องตอบว่า “สำนึกแห่งความเป็นเจ้าของร่วม” คนถามก็คงจะค้านว่า ปกติแล้วความเป็นเจ้าของร่วมของคนสกลนครก็เห็นมีอยู่มากมายที่ถูกละเมิด ถูกริดรอนจากหลายฝ่าย เช่น การรุกพื้นที่สาธารณะ หนองน้ำ หรือที่ป่าสงวน หรือแม้แต่หนองหารเองก็ถูกทั้งราชการ และราษฏรบุกรุกทำลาย แต่ก็ไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องกันถึงขนาดนี้ ฉะนั้นมันต้องมีอะไรที่มากกว่าความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันต่อดอนสวรรค์ อะไรที่พิเศษมากกว่ากรณีอื่นๆ เมื่อมานั่งพิจารณาดูแล้ว ก็น่าจะมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ

. ดอนสวรรค์เป็นสัญลักษณ์พิเศษ  ด้วยหนองหารมีพื้นที่กว่า ๗๖,๐๐๐ ไร่ มีเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า ๓๐ เกาะ มีดอนสวรรค์เป็นเกาะใหญ่สุดที่มีพื้นที่ ๑๐๐ ไร่เศษ มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ถึงแม้จะถูกแผ้วถางไปแล้วเกือบครึ่ง และถูกน้ำท่วมกลืนชายฝั่งไปจากการสร้างประตูควบคุมน้ำสุรัสวดีที่ต้นน้ำก่ำ ทำให้ระดับน้ำไม่ได้ลดลงมากในหน้าแล้งเหมือนในอดีต  ด้วยคุณลักษณะพิเศษนี้ที่เกาะอื่นๆ ไม่มี ดอนสวรรค์จึงเป็นเสมือนสวนสาธารณะธรรมชาติกึ่งดอนปู่ตา ที่ประชาชนคนสกลนครใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่บรรพกาล เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนคนรอบหนองหาร มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตำนานความเชื่อ  ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพีธีกรรมทั้งทางศาสนา และความเชื่ออื่นๆ มาโดยตลอด โดยไม่มีใครคณะใดคณะหนึ่งแสดงกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ ด้วยองค์ประกอบที่ว่านี้จึงทำให้ดอนสวรรค์เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางจิตวิญญานอันลึกซึ้งของคนสกลนคร แม้บางคนอาจจะไม่เคยเดินทางขึ้นไปบนดอนสวรรค์เลยในชีวิต เพียงมองเห็นจากฝั่งแต่ก็ผูกพันเสมือนเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

. คู่กรณีเป็นคนนอก  ตามพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ ชาวสกลนครได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ใกล้ชิดพระสายวิปัสสนากรรมฐานตามแนวปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เห็นว่าผู้ที่ต้องการให้ออกเอกสารสิทธิ์เป็นที่ธรณีสงฆ์คือพระสายอื่น ที่ถือว่าเป็นคนนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยในสกลนครเสมือนแขกมาบ้าน ที่เมื่อก่อนชาวสกลนครไม่ได้แสดงออกถึงความรังเกียจกีดกันแต่อย่างใด แต่ก็เฝ้ามองด้วยความระแวงสงสัยในแนวทางปฏิบัติที่แตกต่าง

. องค์กรภาคประชาชนเข้มแข็ง  การที่ชาวสกลนครไม่มีนักการเมืองระดับชาติที่มีตำแหน่งใหญ่โตในทุกรัฐบาลเหมือนจังหวัดข้างเคียงมานานมาก จึงต้องพยายามพึ่งพิงตัวเองไว้ก่อน ทำให้เกิดองค์กรภาคประชาชนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ไม่ว่าหอการค้าจังหวัด ชมรมสมาคมต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนร่วมมือกับเครือข่ายที่ไม่ใช่ราชการ (NGO) ข้างนอกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ทุกองค์กรจึงรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว และพร้อมเดินไปด้วยกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายรักษาดอนสวรรค์เพื่อไทยสกล (รดส.) คัดเลือกกรรมการและประธานกันเอง ว่าจะให้ใครเป็นในช่วงใด สถานการณ์ใด หรือจะให้องค์กรใดนำ เพราะต่างไม่ได้ถือเอาประโยชน์ส่วนตนหรือคณะตนเป็นที่ตั้ง

. สิ่งเหนือธรรมชาติ  กรณนี้ไม่ค่อยอยากเขียน เพราะมันดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาเรียบเรียง อธิบายความให้เป็นเหตุเป็นผลจับต้องหรือคิดคำนวณเป็นตัวเลขได้ ประกอบกับข้อจำกัดของผู้เขียน แต่ก็ด้วยกำลังใจจากคำสอนของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พูดเสมอมาว่า ภูมิวัฒนธรรมนั้น มันเป็นเรื่องของคนกับคน คนกับธรรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ประเด็นนี้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีอะไรที่เหนือความคาดหมาย เหมือนจักรวาลจัดสรร เหมือนสวรรค์กำหนด หรือโชคชะตาบารมีของสิ่งที่มองไม่เห็นกำหนดให้สรรพสิ่งต้องเป็นไปตามนั้น ผู้เขียนจะไม่เล่าอะไรให้คิดตามหรือขัดแย้งเพียงแค่อยากบอกว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้น ได้เกี่ยวข้องกับผู้คนและสถานการณ์ต่างๆ มากมาย เมื่อมานั่งคิดย้อนหลัง ก็เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ทำไมจึงมีคำว่า บังเอิญ หรือเผอิญ เกิดขึ้นบ่อยมาก นับตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าจะมีการแจกโฉนดดอนสวรรค์มาจนถึงปัจจุบัน มีหลายสิ่งหลายอย่างและคนหลายคนที่เข้ามาสอดรับกันอย่างพอดี ที่ทำให้การคัดค้านเดำเนินมาด้วยดีโดยตลอด

กล่าวโดยสรุป กรณีดอนสวรรคกับการเรียกร้องสิทธิชุมชนเป็นกรณีพิเศษที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่ไม่ได้มีการเตรียมการ หรือวางรูปแบบองค์กรตายตัวไว้เพื่อเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน โดยอาศัยความจริงใจในการขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนร่วมกันของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (เทศบาลนครสกลนคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร) แม้เบื้องต้นการจัดขบวนต้องอาศัยระบบจัดตั้งจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่พอต้องขับเคลื่อนต่อนานขึ้น เครือข่ายก็ได้ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการประชุมกรรมการเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเป้าหมาย ๔ ข้อ เป็นตัวกำหนดชัดเจน ได้แก่

1.คัดค้านการออกโฉนดที่ดินดอนสวรรค ์เพื่อให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันสืบไป

2.เพื่อดำเนินการให้มีการเพิกถอนชื่อ วัดดอนสวรรค์ (ร้าง)” ออกจากสาระบบทะเบียนวัดร้าง ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  3.ปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่นและหวงแหนผืนแผ่นดินอันเป็นสาธารณสมบัติของชาวสกลนคร
4.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาดอนสวรรค์เชิงอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดึกดำบรรพ์ให้ยั่งยืน

หากถามว่ารูปแบบการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิชุมชนคนสกลนครจะเป็นแบบอย่างให้แก่ที่อื่นได้หรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่า ทั้งเป็นแบบได้ และเป็นแบบไม่ได้ ที่เป็นได้กอย่างเช่น ภาคประชาชนหลายๆองค์กรมารวมตัวกันทำกิจกรรมตามความถนัดความชอบ  หรือตามปัญหาร่วมของสมาชิกองค์กรนั้นๆ โดยมีองค์กรอื่นๆให้การสนับสนุนหรือให้กำลังใจตามสมควร แลัวก็มาร่วมกันทำกิจกรรมในเทศกาลหรือในสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่มีผลกระทบร่วมกันทั้งจังหวัดอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนที่ว่าจะเป็นแบบไม่ได้นั้น อยู่ที่องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการดังที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่ใช่กรณีปกติที่จะเกิดได้บ่อยๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะหล่อเลี้ยงกันต่อไปอย่างไร ด้วยอะไร (อะไรในที่นี้คือประเด็นหรือภารกิจ) สำหรับผู้เขียนแล้วกรณีดอนสวรรค์จะเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดที่จะทำให้สำเร็จ และหากทำสำเร็จตามเป้าหมายได้ทั้ง ๔ ข้อ ก็คงไม่มีเรื่องอื่นที่ชาวสกลนครจะทำไม่สำเร็จภายใต้คำว่า สิทธิชุมชนคนสกลนครใครจะละเมิดมิได้เป็นสิทธิที่เหนือกว่าความเชื่อทางการเมือง เหนือความเป็นเชื้อชาติ และเหนือความเชื่อในลัทธิ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตนหรือพวกตน หากกรณีดอนสวรรค์จะเป็น สกลนครโมเดล ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจในมาตุภูมิ ก็จะน่าจะเป็นเป้าประสงค์สูงสุดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนครับ.

เพลงฮักดอนสวรรค์

http://www.youtube.com/watch?v=PX2Ay18RPu4

                                                              เพลงสูดขวัญดอนสวรรค์

http://www.youtube.com/watch?v=H8mkHSV5sa8

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หอการค้าทั่วประเทศพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ?


                                           ขอนแก่นแดนอีสานได้รับเลือกให้จัดการประชุมใหญ่หอการทั่วประเทศในปีนี้  และอีสานบีซวิคก็จะออกฉบับพิเศษให้ทันการประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย บรรณาธิการจึงขอให้ผมส่งบทความไวกว่าปกติ
              เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการประชุมใหญ่ของหอการค้าทั่วประเทศ  ผมจึงขอตั้งประเด็นโสเหล่ด้วยปัญหาที่มีผลกระทบระดับชาติและเป็นปัญหาที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดควรจะมีส่วนร่วมแก้ไขหรือช่วยลดปัญหาให้เบาบางลง หรืออาจจะทำให้ให้วิกฤตกลับเป็นโอกาสเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ส่วนคนระดับยอดสุดของสังคมไทยนั้นคงไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะเขาเหล่านั้นอยู่ที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ เพราะถือตัวเองเป็น “พลเมืองโลก”(Global Citizen)  และสำหรับบางคนแล้วประเทศไทยเป็นเพียงแผ่นดินที่อาศัยเกิดเท่านั้น
                ผมกำลังกังวลแทนนักธุรกิจในภูมิภาค และแทนคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ เนื่องจากจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economic Community : AEC. อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)  ภายใต้แนวคิด อาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว ( Single market and production base ) ซึ่งหมายถึงจะมีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ใน 10 ประเทศสมาชิก และสามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศทั้งวัตถุดิบและแรงงาน  มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบเดียวกัน
                อันที่จริงแล้ว AEC. เป็นเพียง1 ใน 3 ของประชาคมย่อยในประชาคมอาเซียนเท่านั้น ยังมีอีก 2 ประชาคมย่อยที่เราไม่ค่อยได้รับรู้การเคลื่อนไหว หรือให้ความสนใจเท่าไรนักนั่นคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ทั้งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเลย แต่โลกกำลังตกอยู่ในวังวน ของเศรษฐกิจ จนไม่ได้คำนึงถึงสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมว่าจะเสื่อมสลายอย่างไร ขอเพียงให้เศรษฐกิจโตขึ้นมากๆ เป็นใช้ได้ ผมจึงจะยังไม่ชวนโสเหล่เรื่องนี้ เอาไว้โอกาสต่อไปค่อยว่ากันอีกที
                จากการสืบค้นและติดตามรับฟังเรื่องของ AEC.:ซึ่งยังมีน้อยมาก  ผมขอข้ามที่จะกล่าวถึงที่มาที่จะไปของ AEC.เพราะท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้ว หรือค้นหาข้อมูลได้ไม่ยาก ผมขอสรุปว่าการนำเอาประเทศสมาชิกอาเซียนมามัดรวมกันเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันนั้น จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีอยู่ 5 ด้านคือ เสรีด้านการค้า ด้านบริการ ด้านการลงทุน ด้านเงินทุน และเสรีด้านแรงงานฝีมือ หากถามว่าในห้าด้านนี้มีข้อน่าห่วงอย่างไร ผมขอสรุปดังนี้ครับ
                เสรีด้านการค้า คือเลิกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างกัน หรือลดอัตราจัดเก็บเหลือ 0 % ในรายการสินค้าที่เป็น Inclusive List ที่เริ่มไปแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2553 ใน 6 ประเทศ และในปี 2558 จะใช้กับอีก 4 ประเทศที่เหลือ การเปิดเสรีด้านนี้ เรามีทั้งทางได้และทางเสียอยู่ที่ฝีมือของนักธุรกิจไทยและรัฐบาล สำหรับนักธุรกิจใหญ่บ้านเราเชื่อว่าเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว แต่ระดับกลางถึงเล็กน่าห่วงมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังไม่สนใจรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง และหากรัฐบาลไม่สนใจที่จะดูแลนักธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(SMEs) อย่างจริงใจแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาคมีความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางสังคมระดับล่างมากที่สุด จะมองแต่ปริมาณตัวเลขทางการค้าอย่างเดียวคงไม่ได้
                เสรีด้านบริการ เราจะเสียเปรียบมากที่สุดคือสาขาคอมพิวเตอร์และคมนาคม แต่ในสาขาบริการการท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ และบริการด้านสุขภาพถือเป็นจุดแข็งของไทย แต่จะยั่งยืนเพียงใดอยู่ที่วิสัยทัศน์ที่จะกำหนดนโยบายของรัฐบาลว่าจะทำเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อใคร
                เสรีด้านการลงทุน ประเทศสมาชิกที่มีเทคโนโลยี ความชำนาญ และมีเงินทุนมาก จะแย่งกันไปลงทุน หรือย้ายฐานผลิตไปประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 นี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ประเทศร่ำรวยที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน แต่แอบตั้งบริษัทนอมินี สัญชาติอาเซียนมาลงทุนในประเทศที่มีคอรัปชั่นสูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทุกวันนี้มีบริษัทนอมินีอยู่เต็มเมือง ทั้งๆที่ผิดกฎหมายรู้เห็นกันอยู่ แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถทำได้จริง จนอาจจะกล่าวได้ว่ามีมากจนแตะไม่ได้ เพราะบริษัทเหล่านั้นคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศนี้ไปเสียแล้ว
                เสรีด้านเงินทุน  ขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดเท่าใดนัก แต่โดยหลักการแล้วจะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี รวมถึงการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนร่วมกัน  เวลาเหลืออีกเพียงแค่ 4 ปีเศษเท่านั้นก็จะต้องเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่ผมเองก็มีความเข้าใจที่จำกัดในเรื่องนี้ จึงขอข้ามไปก่อน
                เสรีด้านแรงงานฝีมือ จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และผมเคยนำเสนอในคอลัมน์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง มาวันนี้ความกังวลของผมมากยิ่งขึ้นเพราะ
                1. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมาก การบังคับใช้กฎหมายจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอย่างเท่าเทียม  เป็นเหตุให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ และประเทศที่มีแรงงานมากแต่ค่าจ้างต่ำอย่าง พม่า เขมร และเวียดนา ทุกวันนี้เรามีแรงงานเถื่อนทั้งระดับแรงงาน และระดับช่างฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาหากินในประเทศมากมายหลายแสนคน หรืออาจจะเป็นล้านคนแล้ว หากเปิดแรงงานเสรี ผมเชื่อว่า แม้แต่อาชีพทำนาทำไร่ และปศุสัตว์ เราก็จะถูกเพื่อนบ้านเข้ามาแย่งทำกินแน่  ยิ่งลูกหลานชาวนาเดี๋ยวนี้มีปริญญากันหมดจนทำนาไม่เป็นหรือไม่ยอมทำ อย่างนี้แล้วแรงงานไทยจะอยู่อย่างไร ปัญหาสังคมคงจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูได้ไม่ยาก
                2. ปัญหาการพัฒนาความพร้อมของ “คนไทย” (ไม่ใช่ “ทรัพยากร” ที่ฝรั่งสอนให้เรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์”หรือ Human Resource) ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต่างจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ไปไกลไม่เพียงแค่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรืออาเซียน+3  และอาเซียน+ 6  เท่านั้น  ส่วนการศึกษาไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน ต้องบอกเลยว่าล้มเหลวอย่างยิ่ง เราผลิตแต่ปริมาณ โดยไม่ใส่ใจในคุณภาพมาตลอด 40 ปี ทำให้เกิดปัญหาความด้อยศักยภาพด้านการแข่งขัน ไทยจึงเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในขณะนี้ ที่จริงแล้วเราควรประเมินคู่แข่งขันให้สูงไว้ก่อนเสมอ เพื่อความตื่นตัวและไม่ประมาท
                3. ข้าราชการไทยบางสาขาอาชีพ อย่างเช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรบางสาขา ตลอดจนครูอาจารย์ นักวิจัย ที่มากด้วยคุณภาพ รัฐอาจจะรักษาเขาเหล่านั้นไว้ไม่ได้ หากภาครัฐคิดแค่จะใช้เงิน หรือตำแหน่งงาน มาเป็นสิ่งผูกมัดหรือจูงใจ เพราะภาคเอกชนเขามีศักยภาพมากกว่าหลายช่วงตัว และการจะผูกมัดข้าราชการด้วยค่าตอบแทนที่เป็นเงิน และตำแหน่งงานในสถานการณ์ของการวิ่งเต้นเส้นสายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ระบอบราชการไทยจะเหลือแต่บุคคลากรไร้คุณภาพมาเป็นกำลังในการบริหารประเทศ เสมือนการนำรถห่วยราคาแพงไปลงแข่งขัน แถมได้คนขับไร้ความรับผิดชอบ ก็คงจะพาแหกโค้งตายกันหมดเท่านั้น
                อันที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง แต่เอาแค่สามประเด็นข้างต้นนี้ ก็น่าจะหนักหนาสาหัสเกินเยียวยาแก้ไขได้ทันการ ผมอยากเห็นพี่น้องชาวหอการค้าต่างจังหวัด พิจารณาใคร่ครวญด้วยการมองไปที่ลูกหลานที่จะทำหน้าที่สืบทอดธุรกิจ มองไปที่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน ลูกค้า ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาจะอยู่กันอย่างไรหากปัญหานี้ยังถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป ท่านคงไม่เชื่อว่าภาครัฐที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองและข้าราชการที่คิดเอาแต่ประโยชน์และเอาตัวรอด จะสามารถรับมือกับปัญหาของประเทศได้โดยลำพัง โดยที่ภาคเอกชนไม่พยายามเข้าไปมีบทบาทอย่างจริงจัง อย่าคิดดูถูกความรู้ความสามารถของตนเอง บ้านเมืองรอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเข็มแข็งของภาคเอกชนไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเรายังทำเท่าเดิมจะไม่ทันการแล้ว และหากยังทำเหมือนเดิมก็คงไม่ต่างกับเติมฟืนสุมไฟเผาบ้านตัวเองล่ะครับ
                จากประเด็นปัญหาทั้งสามข้างต้น หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ตัวถ่วงและตัวเร่งปฏิกิริยาของปัญหา มาจากการ “คอรัปชั่น” การขาดธรรมาภิบาลของภาครัฐและเอกชน และการหย่อนยานด้านศีลธรรมของประชาชนคนไทย คือแก่นแท้ของปัญหา  ผมอยากเห็นหอการค้าจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยให้ความร่วมมือท่านประธานหอการค้าไทย นายดุสิต นนทะนาคร ที่ท่านเข้าใจปัญหาค่อนข้างชัด ในการขจัดหรือลดการคอรัปชั่นในบ้านเมืองนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ เพราะหากไม่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ป่วยการที่จะพูดเต็มปากว่าท่านคือ ตัวแทนของผู้ประกอบวิสาหกิจจากทั่วประเทศ  จริงไหมครับพี่น้อง........

                                                                                                             อีสานบิซวีค ๗๗
                                                                                                               ๑๕ พย.๕๓

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมสอดไส้...ไทเชียงคาน

ผมเป็นสมาชิก Chiangkhan.com เพราะมีความผูกพันธ์กับเมืองนี้มากว่ายี่สิบปี สองปีมานี้เชียงคานกำลังเปลี่ยนไปมาก ที่รับรู้ได้ทุกครั้งที่ไปในช่วงหลัง และเว็บไซต์นี้เกิดขึ้นโดยคนเชียงคานเองที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเขา แม้จะต้องถอยร่นกับกระแสวัฒนธรรมการท่องเที่ยวอย่างไร้สติ ที่เร่งเข้ามากอบโกยโดยไม่แยแสต่อสิทธิคนเชียงแต่อย่างใด ข้อความต่อไปนี้ผมคัดลอกมาจาทblog ของสมาชิกท่านหนึ่งของเว็บไซด์นี้ สท้อนความรู้สึกของคนเชียงคานกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเจ็บปวดของคนเชียงคานที่อยู่ริมโขง และคนที่คุ้นเคยกับเชียงคานในอดีตอย่างผม นี้เป็นบางส่วนเท่านั้น หากต้องการฟังเสียงของคนเชียงคานและผู้รักเชียงคานเข้าไปดูที่

http://www.chiangkhan.com/profiles/blogs/2066709:BlogPost:286278?commentId=2066709%3AComment%3A290417&xg_source=msg_com_blogpost



.......หลังจากที่เดินทอดน่องที่ริมโขง จากคำทักทาย กินข้าวแล้วเบาะ กินข้าวหรือยัง แลจะขาดหายไปมิใช่นำใจที่ขาดหาย แต่ผู้คนที่เป็นพ่อแม่พี่ป้าน้าอาหายไปไหนกันหมด

(เป็นกูก็หนีว่ะ แม่งเดินหลังบ้านหน้าบ้าน ยืนถ่ายรูป เป็นมึงมึงชอบหรือเปล่าว่ะ จะกินข้าวคนแปลกหน้าเดินผ่านหลังบ้าง ส่องกล้องเข้าไปในบ้าน จะต้องระวังแม่งจะถ่ายรูป จะนอน จะกิน จะเดิน ไม่เป็นส่วนตัว) ขอใช้คำแบบนี้เพราะมันจริง
บ้านเรือนที่แต่งแต้มสีสรร ข้างนอกไม้เก่า ข้างในสาดไฟไม่แคร์สภาวะโลกร้อน เวสป้าจอดหน้าร้าน ตู้ไปรษณีย์ส่วนตัวตั้งหน้าร้าน หลักกิโล ร้านขายขนมเก่าที่เปิดใหม่ตอนเป็นเด็กกินแค่ไม่กี่อัน ที่เหลือมาจากไหนฟ่ะ (เชียงคานมีขายขนมน้อยมาก กินแต่ไอติมลุงเติบ ข้าวปุ้น ตำส้ม)

กินสเต็ก นั่งจิบวายแดง ฟังเพลงแจ๊ส มองแม่น้ำโขง

ไม่ได้รังเกียจหรืออิจฉา แต่มันไม่ใช่ วัฒนธรรมของคนเชียงคาน


วันนั้นเห็นนักท่องเที่ยว เข้าไปซื้อของร้านอื่น ๆ เต็มสองข้างถนน แต่ร้านของคนเชียงคานร้านป้าคนหนึ่ง(ขออภัยจำไม่ได้ว่าชื่อร้านอะไร) ยืนเรียกลูกค้าให้ซื้อของ
"น้ำตาผมร่วง"
หรือว่าเราไม่มี วิถีที่จะเป็นเอกลักษณ์ของเรา จึงถูกคนอื่นมาหากินบนวิถีของเรา

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นางพญา วัดถ้ำขาม

พระผงนางพญา วัดถ้ำขาม


นางพญาวัดถ้ำขาม(เนื้อพิเศษ)

ความเป็นมา
                   ผู้สร้าง(ผู้เขียน)  มีความจำเป็นต้องหาของที่ระลึก  ไว้แจกให้ผู้เคารพนับถือ ที่มาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่ (อดีต สส.อนงค์ ตงศิริ ปม.)  ในวันที่  25 ธันวาคม 2536  จึงตัดสินใจทำ  พระนางพญาเนื้อผง  เมื่อนำเรื่องไปปรึกษา  ท่านพระอาจารย์พัลลพ  จิรธัมโม  เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านคำประมง  ตำบลสว่าง  อำเภอพรรณนานิคม   จังหวัดสกลนคร  เพื่อขออนุญาตทำที่วัดท่าน  เพราะที่วัดท่านมีพระลูกวัดคือ ครูบาวีระ ฐิตวิรโย มีความรู้ในการทำพระเครื่อง   และก่อนหน้านั้นไม่นาน ท่านเพิ่งทำพระเครื่องจำนวน  84,000  องค์  เป็นพระเบญจภาคี เนื้อดินเผา  เพื่อบรรจุใส่ผนังพระอุโบสถวัดคำประมง  จึงขออนุญาตใช้  บล็อคพระนางพญา  ของท่านมาทำ โดยเปลี่ยนบล็อคด้านหลัง     เป็นยันต์คาถาย่อ นะ มะ พะ ทะ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร   ส่วนด้านบน เป็นตัว   อุ ของวัดคำประมง และ เขียนข้างล่างว่า วัดถ้ำขามซึ่งก็ได้ขออนุญาตท่าน  พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย เจ้าอาวาสวัดถ้ำขามแล้ว


ครูบาวีระ และต๋อม บนแพริมเขื่อนวัดคำประมง

                  ครูบาวีระฯ ได้ให้ไปหามวลสาร  พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เช่น น้ำมันตังอิ้ว  เปลือกหอย น้ำมันจันทร์ ผงธูป  ข้าวแห้ง  ดอกไม้แห้ง  กล้วยหอม หินสบู่ และปูนขาว เป็นต้น   ผมจึงไปหาเปลือกหอยแครง หอยขม หอยโข่ง แล้วเอามาเผาบดให้เป็นแป้ง  ดอกไม้แห้งจากกุฏิหลวงปู่เทสก์  เทสรังสี  (วัดถ้ำขาม) และ หลวงปู่สิม   พุทธาจาโร  (วัดคำประมง และ วัดถ้ำผาป่อง)   ผงธูปจากวัดป่าอุดมสมพร วัดถ้ำขาม   และ  วัดคำประมง
                  และเมื่อได้อุปกรณ์มวลสารครบแล้ว ก็ลงมือทำ   เมื่อกลางเดือน  ตุลาคม  2546    แพริมเขื่อนวัดคำประมง  โดยครูบาวีระ ฯ  ควบคุมการทำ  มีนายศักดิ์ชัย  ศรีวิชัย (ต๋อม)   เป็นลูกมือ  ทำอยู่ 6 วัน  จึงเสร็จ  ได้พระนางพญาวัดถ้ำขาม เนื้อผงและปิดทองเปลว (ทอง K)  ด้านหน้า 3,000 องค์*    และเนื้อพิเศษปิดทองคำเปลวแท้   อีก  403  องค์**  (ในโอกาสเดียวกันได้แบ่งเนื้อพิเศษ ไปสร้างพระเบญจภาคีวัดคำประมง  อีก  25  ชุด  ไว้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คนละ 5 ชุด)   เมื่อทำเสร็จแล้วก็ทำลายบล็อค  (ด้านหลัง)  โดยใช้ขวานทุบ   แล้วโยนลงเขื่อนที่ข้างแพนั้นเอง



เนื้อทั่วไป




      ชุดเบญจภาคี วัดคำประมง(พิเศษ)

มวลสารหลัก*
                    1. ข้าวเหนียวแห้งก้นบาตร หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี   วัดถ้ำขาม
                    2. ผงดอกบัว ดอกมะลิแห้ง จากหิ้งพระ กุฏิหลวงปู่เทสก์ และหลวงปู่ สิม (จากครูบาวีระ )
                    3. ผงและดินในกระถางธูป  จากวัดป่าอุดมสมพร และ วัดถ้ำผาป่อง(จากครูบาวีระ)
                    4. ผงจากแก่นขาม จากต้นมะขามวัดถ้ำขาม
                    5. ผงจากไม้มุงหลังคาเก่า กุฏิหลวงปู่มั่น วัดป่าภูริภัตโต บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม
มวลสารเสริม(รุ่นพิเศษ)**
                    1. เกศาอริยสงฆ์ 7 รูป  หลวงปู่ขาว อนาลโย    หลวงปู่ฝั้น อาจาโร    หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี
                                   หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  และ 
                                    พระอาจารย์วัน  อุตตโม           
                    2. ผงชานหมาก  หลวงปู่ฝั้น   หลวงปู่ขาว   และ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
                    3. ผง  ลูกพระพุทธเจ้า  5  พระองค์  ของหลวงพ่อจันทร์ดี เกสาโว
                    4. ดินรองน้ำล้างอัฐิ  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  (จากคุณวนิดา โมราราษฏ์)
                    5. ผงจีวร  หลวงปู่ฝั้น  ที่หลุดออกมาจากกองไฟพระราชทานเพลิงศพ(จากคุณวนิดา โมราราษฏร์)
            ผู้สร้างได้เอาสิ่งมงคลต่างๆ ที่ตัวเองได้สะสมมาและ จากครูบาวีระ จากญาติมิตร เช่น  คุณฮุย-คุณเฉลียว แต้ศิริเวชช์  คุณวนิดา โมราราษฏร์ (ลูกสาวคุณลุงโหมด โมราราษฏร์ ผู้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น และหลวงปู่ฝั้น)

การปลุกเสก และอธิษฐานจิต
                      เมื่อทำเสร็จแล้วมีเวลาผึ่งแห้ง(ตากลม)น้อยมาก  ทำให้เนื้อพระยังไม่แกร่ง แต่จำเป็นต้องรีบเข้าพิธีปลุกเสกในพิธีใหญ่ฉลองพระอุโบสถวัดคำประมง   ตลอดคืนวันที่ 16 พย. 2536 โดยพระเกจิ จำนวน 36 รูปเข้าร่วมพิธี   มีหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ   เป็นประธานนั่งปรก  ทั้งๆแรกเริ่มตั้งใจเพียงให้พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย อธิษฐานจิตให้ก็พอ     แต่ด้วยกุศลจิตที่ต้องการกระทำบูชาพระคุณของคุณแม่ จึงได้มีโอกาสเข้าพิธีปลุกเสกใหญ่ที่วัดคำประมง    และสิ่งที่ไม่คาดก็อุบัติขึ้นอีก   เมื่อพระอาจารย์อุทัย  ฌานุตตโม  (พระอาจารย์ติ๊ก)    พระลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่เทสก์ มาที่บ้านคุณฮุย แต้ศิริเวชช์ 
                       ผมเลยได้เข้าไปกราบเรียนปรึกษาท่านว่า  หากกระผมจะนำพระผงนางพญา   ที่จะทำไว้แจกในงานพระราชทานเพลิงศพแม่ไปให้หลวงปู่พิจารณาอธิษฐานจิตให้  จะได้ไหมครับ
                       ท่านตอบว่ากู  (ท่านชอบใช้สรรพนามอย่างนี้กับลูกศิษย์ใกล้ชิด)   เป็นคนตั้งกฎเองไม่ให้ใครเอาอะไรไปให้หลวงปู่ปลุกเสกหรืออธิษฐานจิตเด็ดขาด เพราะหลวงปู่ไม่ชอบ
                       เล่นเอาจ๋อยไปเหมือนกัน 
                       อีกครู่ท่านก็เอ่ยขึ้น   แต่กรณีโยมอนงค์    ท่านคงเมตตา พิจารณาให้    ว่าแต่มึงจะเอาขึ้นไป (ขึ้นวัดถ้ำขาม)  เมื่อไหร่
                       เลยกราบเรียนท่านไปว่า หากท่านอาจารย์เห็นไม่เป็นการรบกวนหลวงปู่จนเกินไป กระผมก็จะเอาขึ้นไปพรุ่งนี้เช้าครับ  (ซึ่งตรงกับวันอังคาร)   เพราะเวลาเหลือน้อยแล้วครับ
                        ท่านนั่งนิ่งอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนเอ่ยอย่างจริงจังว่า  ให้พวกมึงไปเย็นวันพฤหัส ช่วงก่อนหลวงปู่สรงน้ำ จะดีที่สุด และอย่าบอกนะว่ากูบอก
                        หลังจากได้ข้อแนะนำจากท่านพระอาจารย์ติ๊ก   กำลังใจและความเชื่อมั่นก็มีเพิ่มขึ้นเป็นกอง  และรอจนถึงบ่ายแก่ๆของวันพฤหัสขึ้น 5  ค่ำ  เดือน 12  ตรงกับ  วันที่  18 พฤศจิกายน  2536   วันนั้นเราไปด้วยกันแค่สองคนคือผู้เขียน และคุณฮุย   เอาผ้าขาวห่อกล่องพระทั้งหมด 3,528  องค์ (เนื้อปกติ 3000+พิเศษ 403+เบญจภาคีวัดคำประมง 125 องค์  รวมเป็น 3,528 )
                      พอถึงบันไดกุฏิหลวงปู่  เห็นญาติโยมคณะสุดท้ายกำลังลงจากกุฏิพอดี   เราเลยเป็นคณะปิดท้ายที่เข้าไปกราบหลวงปู่  และวันนั้นพระทรงวุฒิ  ซึ่งเป็นพระเลขา(ไม่ทราบใครตั้ง)  หรือที่ใครๆ  เรียกว่า  พระตู่ไม่อยู่ที่กุฏิหลวงปู่  เห็นว่าไปธุระในเมือง หรือต่างจังหวัด   เลยนึกในใจว่า วันนี้ ทำไมโชคดีอย่างนี้   ทศกัน  ไม่อยู่ ทำให้เข้ากราบหลวงปู่อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด  ระหว่างลูกหลาน กับหลวงปู่
                       พอได้จังหวะก็กราบเรียนหลวงปู่ไปว่า ขอโอกาสกระผม   ผมสร้างพระนางพญาไว้แจกแก่ผู้ที่จะมาในพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณแม่ครับ    และอยากขอเมตตาจากหลวงปู่พิจารณาแผ่จิตให้ด้วย  ครับกระผม และในใจขณะนั้นคิดว่า  หากดูหลวงปู่ ไม่สบายใจที่จะรับให้ ก็จะขอกราบลาขนกลับทันที จะไม่รบเร้าอย่างเด็ดขาด
                        แต่เหมือนสวรรค์โปรด หลวงปู่ไม่มีปฏิกิริยาใดๆที่จะปฏิเสธเลย พร้อมถามว่า ไหน ดูสิเป็นพระอะไร  และแบมือขอดู   ผมจึงรีบแกะผ้าห่อหยิบให้ท่านดู  แต่พอยื่นถวายให้ท่านดู  ท่านพูดว่า เออ มองไม่เห็นหรอก  (อาจเพราะพระเล็ก และแสงในกุฏิก็ไม่สู้จะสว่างนัก)   เอ้า เอาไว้นี้แหละ    พร้อมกับให้พระที่อยู่คอยดูแลหลวงปู่มารับเอาห่อกล่องพระ  ยกไปไว้ข้างหัวเตียงหลวงปู่   เราก็พากันกราบลาหลวงปู่กลับด้วยความปลื้มปรีติยิ่ง
                       หลังจากวันนั้น 11 วันครูบาตู่(พระทรงวุฒ)โทรมาจากวัดถ้ำขาม   บอกให้ไปรับพระที่ฝากหลวงปู่พิจารณากลับได้แล้ว  เย็นวันนั้นผู้เขียนกับคุณฮุยก็ขึ้นไปที่วัดถ้ำขามอีกครั้งเพื่อไปขอรับพระกลับลงมา
                      และก่อนจะกลับ เลยยกพระทั้งหมดไปพบ  ท่านพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย(เจ้าอาวาสวัดถ้ำขาม)   เพื่อขอความเมตตาให้ท่านอธิษฐานจิตให้ปิดท้ายอีกครั้งที่ศาลา ใต้ชะง่อนหินวัดถ้ำขาม ท่านก็เมตตาบริกรรมสวดคาถาอธิษฐานจิตให้ตรงนั้นเลยทีเดียว  พอเสร็จแล้วก็กราบลาท่านกลับ
                      วันนั้น วันที่  29   พฤศจิกายน  2536  เป็นวันที่จำได้อย่างถนัดตาว่า เป็นวันเพ็ญขึ้น 15  ค่ำ เดือน 12 เพราะช่วงเวลาลงมาจากวัดถ้ำขาม  เป็นเวลาพลบค่ำ ได้เห็นพระจันทร์ดวงกลมใหญ่กำลังขึ้นจากขอบฟ้า ทางด้านขวามือของทางเดินลงจากวัด สวยงามมาก  จนรู้สึกขนลุกด้วยความปรีติ  ปรีติยินดีในบุญบารมีของคุณแม่ ที่ท่านได้สั่งสมมาทั้งทางโลกและทางธรรม  จึงทำให้การกระทำอะไรเพื่อบูชาคุณท่านราบรื่นอย่างเหนือความคาดหมายตลอดเวลา  ทั้งๆลูกๆเพียงแต่อยากจะทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อสนองคุณท่าน โดยไม่ได้ตั้งความหวังอะไรให้เลิศเลอเลย   แต่ก็มักจะได้มากกว่า  ดีกว่า  ที่อยากจะทำ ดังเช่นการสร้าง พระนางพญา วัดถ้ำขาม ครั้งนี้

ปล.พระทั้งหมด 3,528  องค์  แจกจ่าย  ดังนี้
             -   เนื้อปกติ 3,000 องค์ แจกในพิธีและหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ ประมาณ1,600 องค์ เก็บไว้แบ่งญาติ
                  พี่น้อง    ประมาณ 500 องค์ ที่เหลือ 900 องค์ถวายเจ้าอาวาสวัด ป่าอุดมสมพร(พระอาจารย์แปลง) และ วัดถ้ำขาม
                  (พระอาจารย์เขี่ยม) วัดละ 450 องค์
             -    เนื้อพิเศษ 403 องค์แบ่งผู้มีส่วนสร้าง ญาติพี่น้อง และแขกผู้ใหญ่ ทั้งหมด
             -    พระเบญจภาคี  125  องค์แบ่งผู้เกี่ยวข้อง 5 คน คนละ 5 ชุด


                                                                                                                                   ประสาท ตงศิริ



                                                          ...........................................