วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ซุ้มกอรุ่น "มีธรรมไม่มีทุกข์" วัดถ้ำพระภูวัว





เจตนารมณ์ 

ที่มาของการสร้างพระซุ้มกอเนื้อผงรุ่น "มีธรรม ไม่มีทุกข์"  ผู้สร้างมีเหตุผล ๓ ประการคือ

        ประการที่ ๑  ผู้สร้างเคยสร้างพระนางพญาวัดถ้ำขาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  (ดูอีกโพสต์ในบล็อกนี้)  และตั้งใจไว้ว่าหากเป็นไปได้ก็จะสร้างพระให้ครบชุดเบญจภาคีในยุคที่พระลูกศิษย์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี  กำลังเป็นผู้นำกองทัพธรรมรุ่นที่สาม ที่กำลังเจริญรอยตามพระเดชพระคุณพ่อแม่ครูจารย์


เศษเศียรพระที่วัดเก็บไว้
        ประการที่ ๒  ในสมัยที่ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  (วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร)  ท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (วัดป่าหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี)  ได้ธุดงค์ไปป่าเขตภูวัว (จังหวัดบึงกาฬปัจจุบัน) โดยมีหลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย (วัดเขาสุกิม จันทบุรี) เป็นสามเณรติดตาม  พระอาจารย์ทั้งสองท่านได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นที่หน้าผาข้างน้ำตกทางทิศตะวันออกของภูวัว ด้วยวัสดุที่หาได้ตามป่าเขาและหมู่บ้านในบริเวณนั้น และให้ชื่อว่า "พระพุทธโคตโม" เมื่อกาลเวลาผ่านมากว่า ๖๐ ปี ฝนที่ตกหนักทำให้ส่วนเศียรพระที่ชำรุดอยู่เดิมตกลงมาแตกกระจาย  ทางวัดจึงได้ทำการซ่อมแซมใหม่แต่ยังคงรูปแบบเดิม ส่วนเศียรพระเก่าก็เก็บใส่กล่องไว้ที่ศาลาการเปรียญ  ผู้สร้างไปเห็นเกิดความเสียดาย จึงกราบขออนุญาตจากพระอาจารย์เสถียร คุณวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระภูวัวนำเศษเศียรเหล่านั้นมาซ่อมประกอบใหม่เนื่องจากเป็นพระที่พ่อแม่ครูจารย์ท่านได้ทำไว้  เมื่อเสร็จแล้วจึงจะนำกลับไปถวายวัดตามเดิม  ผู้สร้างได้นำเศียรพระเก่าไปให้พระอาจารย์วีระสำนักสงฆ์ถ้ำเทิ้งนาคนิมิตซ่อมให้  เมื่อซ่อมเสร็จแล้วก็จะนำเศษอิฐดินและปูนส่วนที่ยังเหลืออยู่นำเข้าบรรจุในเศียร  ผู้สร้างได้ขอเศษอิฐดินและปูนส่วนหนึ่งไปทำมวลสารสร้างพระซุ้มกอชุดนี้ โดยเลียนแบบพระพักตร์ "พระพุทธโคตโม" สร้างพิมพ์เป็นปางมารวิชัยแทนปางสมาธิ

พระพุทธโคตโม ริมธารน้ำตกถ้ำพระภูวัว
นำส่วนผิวมาเรียงก็พอจะประกอบใหม่ได้


      

















           

          ประการที่ ๓  เนื่องจากพระสร้างเสร็จตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๕๗  ผู้สร้างจึงได้นำพระชุดนี้ทั้งหมดไปอยู่ในการพิจารณาของพระอาจารย์เสถียร คุณวโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระภูวัว  พระอาจารย์ได้เมตตาอธิษฐานจิตตลอดพรรษา และพระอาจารย์ได้แจกเป็นที่ระลึกในวันทอดพระกฐินวัดถ้ำพระภูวัว ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗  

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

ตำนานเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก


                                  ที่มาของเหรียญ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่นแรก



(เหรียญนี้ได้มาจาก น.อ.สมพร ทองโสภณ)

               เมื่อประมาณปี พศ. ๒๕๐๕ นายทหารช่างจาก กรมช่างอากาศ กองทัพอากาศ สองนาย คือ    เกษม งามเอก และ สมพร ทองโสภณ  (จำยศขณะนั้นไม่ได้ แต่ตอนหลังครองยศนาวาอากาศเอกทั้งคู่)         ได้รับภารกิจให้เดินทางมาซ่อมเปลี่ยนเสากรวยผ้าบอกทิศทางลมที่สนามบินทหารสกลนคร (ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนครปัจจุบัน) ทั้งสองท่านเป็นผู้สนใจในปฎิปทาพระสงฆ์สายวัดป่า หรือสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถามเพื่อนทหารช่างอากาศด้วยกัน คือ น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ที่เป็นคนสกลนครโดยกำเนิด ว่าสกลนครมีพระอาจารย์รูปใดที่ชาวสกลนครเคารพศรัทธามากที่สุด น.อ.(พิเศษ)สงวน หอมไกรลาศ ได้แนะนำให้ไปถามพี่ชายตนคือ อาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ อาจารย์ประจำโรงเรียนการช่างชายสกลนคร
              เมื่อมาถึงสกลนครแล้ว จึงไปพบอาจารย์เสงี่ยม หอมไกรลาศ  อาจารย์เสงี่ยมได้พาไปกราบพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ช่วงนั้นท่านมาจำวัดอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง ออกจากตัวเมืองสกลนครไปทางอุดรธานีแค่ ๖ กม.เท่านั้น นับว่าสะดวกเพราะเดินทางไม่ไกล เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แล้ว นายทหารทั้งสองท่านต่างศรัทธาในองค์ท่านพระอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง จนเอ่ยปากขอสร้างเหรียญรูปเหมือนตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่พระอาจารย์ท่านไม่อนุญาตให้สร้าง


โบสถ์กลางน้ำ หรือ สิมน้ำ วัดป่าอุดมสมพร

             ถึงกระนั้นเมื่อมีโอกาสนายทหารทั้งสองท่านก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นประจำ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๗   ได้แวะเข้าไปนมัสการพระอาจารย์อีกครั้งที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้พบเห็นพระอาจารย์กำลังนำชาวบ้านก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำหรือสิมน้ำ แต่ไม่สามารถตั้งเสาในน้ำได้  ด้วยความเป็นทหารช่าง ทั้งสองคนจึงถอดถุงเท้ารองเท้าพับขากางเกง   ลงน้ำพาชาวบ้านตั้งเสาจนสำเร็จ เป็นที่พอใจพระอาจารย์มาก และในที่สุดก็ได้ขออนุญาตทำเหรียญอันเนื่องจากการสร้างโบสถ์กลางน้ำในนามศิษย์ทหารอากาศผู้สร้างถวาย ถึงตอนนี้ท่านพระอาจารย์จึงยอมให้สร้างเหรียญรุ่นแรก นำไปสู่การมีผู้สร้างรุ่นอื่นๆตามมา กว่าร้อยรุ่น
               การสร้างเหรียญ "พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  รุ่นแรกศิษย์ ทอ. สร้างถวาย" ทำน้อยมากเพียงหลักร้อย มีเหรียญทองคำแค่ ๓ เหรียญเป็นของ นายปิยะ งามเอก(พี่ชาย น.อ.เกษม งามเอก) น.อ.เกษม งามเอกแค่สองเหรียญ และ น.อ.สมพร ทองโสภณ (ซึ่งปั๊มพร้อมรุ่นสอง เพราะตอนแรกหาทองไม่ทัน)เป็นเหรียญที่สาม  เหรียญทองแดงซึ่งเป็นเหรียญทดลองบล็อค สิบกว่าเหรียญ นอกนั้นเป็นเหรียญอัลปาก้าเนื้อพิเศษ(ไม่ปรากฏว่ามีเหรียญร่มดำ กะไหล่ทอง หรืออื่นใดนอกจากที่กล่าวมา)

                                                                                                             ประสาท ตงศิริ
                                                                                                              ๑๗ เม.ย. ๕๗

ปล.ข้อมูลที่นำมานี้ทั้งหมดได้มาจากการสนทนาของผู้เขียน กับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้านพัก กม.ที่๒๗ ดอนเมือง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องราวการทำเหรียญต่างๆในนามของศิษย์ ทอ.ถวายพระเกจิต่างๆทั่วประเทศให้ฟัง ทั้งการไปกราบขออนุญาตทำ ที่มาของการออกแบบหน้าหลัง ยันต์ อักขระคาถาต่างๆที่กำหนดลงไปในเหรียญแต่ละท่าน


ลักษณะพิเศษของเหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่นแรก

             ๑.ความหนากว่าเหรียญทั่วๆไป ถึง ๒.๒ มิลลิเมตร


๒.ใช้แผ่นโลหะผสม(อัลปาก้าตามภาษาตลาด) ที่แตกต่างจากเหรียญทั่วๆไปที่สร้างกัน

ภาพนี้ได้รับการร้องขอมาจากแฟนๆว่า "อยากดูขอบเหรียญของแท้ๆเป็นอย่างไร" ก็เลยจัดให้ครับ
ทั้งๆทีผู้เขียนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่ารอยขอบเหรียญปลอมไม่ได้ แต่เชื่อในสนิมแดงของผิวเหรียญมากกว่า




ขอบคุณเจ้าของเหรียญ(ไม่ประสงค์ให้ออกนาม) ที่ให้ยืมมาถ่ายภาพ เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน

ภาคผนวก

              เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาบันทึกไว้นี้ได้มาจากการพูดคุยกับ น.อ.สมพร ทองโสภณ ที่บ้าน กม.๒๗ ดอนเมืองเมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นคุณปิยะ และ น.อ.เกษม งามเอก ท่านเสียชีวิตแล้วทั้งคู่   จากการพูดคุยในคราวนั้นทำให้ผู้เขียนได้ทราบเรื่องราวเบื้องหลังและที่มาที่ไปของรูปทรงเหรียญ ยันต์ คาถาต่างๆ ในเหรียญพระอริยสงฆ์ที่ "ศิษย์ ท.อ. สร้างถวาย" เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุย หลวงพ่อเกษม หลวงปู่ฝั้น ฯลฯ 
               และส่วนสำคัญคือเหตุที่พระอาจารย์ยอมให้สร้างเหรียญรุ่นนี้นั้น ท่านเคยพูดบ่อยครั้งให้ญาติโยมฟังถึงเรื่องที่ศิษย์ ท.อ.ทั้งสองท่านชนะใจท่านในการตั้งเสาโบสถ์กลาวน้ำครั้งนั้น

*บทความนี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่มาก ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมอีกในโอกาสต่อไป